magbo system
Categories
บทความ ประฃาสัมพันธ์

แนะลดต้นทุนการผลิตข้าว… ด้วยหลัก 3 ต้องทำ 3 ต้องลด – ดินดีสมเป็นนาสวน

แม้ว่ารัฐบาลจะยังคงโครงการรับจำนำข้าวของเกษตรกร แต่มีการปรับลดเงื่อนไขการรับจำนำลงจากเดิมที่เคยรับจำนำทั้งข้าวนาปีและนาปรัง ไม่เกิน 500,000 บาทต่อครัวเรือน โดยปรับเป็นข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาลผลิตปี 56/57 รับจำนำที่ 15,000 บาทต่อตัน ลดวงเงินรับจำนำเหลือ ไม่เกิน 350,000 บาทต่อครัวเรือน ส่วนข้าวนาปรัง ปี 57 รับจำนำที่ 13,000 บาทต่อตัน วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท

..ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรเองคงต้องปรับตัวเพื่อสร้างความอยู่รอดอย่างยั่งยืนมากกว่าการพึ่งพารัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว…

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะยังคงไม่ยกเลิก จนกว่าราคาขายข้าวหรือโอกาสของชาวนาที่จะอยู่ได้จากการขายในระบบปกติดีขึ้น ตราบใดที่กลไกราคาตลาดไม่ปกติ รัฐต้องเข้าแทรกแซงราคาโดยการจำนำ แต่จะมีการปรับเงื่อนไขหรือวิธีการบ้าง เพื่อให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและเกษตรกรอยู่ได้ทั้งสองฝ่าย

ทั้งนี้ ถ้ามีการปรับลดราคารับจำนำลงมา สิ่งที่เกษตรกรต้องทำคือลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ได้รายได้คงเดิมหรือเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องการลดต้นทุนการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พยายามรณรงค์ทุกวิถีทาง กรมการข้าวก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ผลักดันเรื่องดังกล่าวมาตลอด เช่น การจัดงานรณรงค์ลดต้นทุนการผลิตข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถกระตุ้นให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงการลดต้นทุนการผลิตข้าวอย่างจริงจัง เพราะจากการจัดนิทรรศการของกรมการข้าวและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำให้ทราบว่าเกษตรกรตัวอย่างที่สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้หลายร้อยบาทต่อไร่ทำได้จริง

การดำเนินโครงการลดต้นทุนการผลิตข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 2 ล้านไร่ ถ้าสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนได้ประสบผลสำเร็จจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการขยายผลพื้นที่ปลูกข้าวในภาคอื่นต่อไป โดยเบื้องต้นตั้งเป้าฤดูกาลผลิตปี 56 หรือฤดูกาลหน้าจะเห็นตัวชี้วัด อย่างน้อยทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมดหรือคิดเป็น 25% จะต้องลดต้นทุนการผลิตข้าวได้

นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของการจัดงานรณรงค์ลดต้นทุนการผลิตข้าว เพื่อต้องการแสดงให้พี่น้องชาวนาเห็นว่าการลดต้นทุนเป็นการแก้ปัญหาให้ชาวนาอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมการข้าวมี มาตรการลดต้นทุนการผลิตข้าว คือ 3 ต้องทำ 3 ต้องลด ประกอบด้วย 3 ต้องทำ คือ ต้องปลูกข้าวไม่เกินปีละ 2 ครั้ง ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ต้องทำบัญชีฟาร์ม ส่วน 3 ต้องลด คือ ลดอัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ลดการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างไม่ถูกต้อง ลดการใช้สารเคมี ถ้าทำได้ต้นทุนการผลิตจะลดลงไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตัน พร้อมกันนี้ กรมฯ ได้จัดตั้ง หมู่บ้านชุมชนต้นแบบการลดต้นทุนการผลิตข้าวนำร่อง 26 หมู่บ้าน 26 จังหวัด กระจายอยู่ในภาคต่าง ๆ และมีแผนจะขยายผลในปี 2557 ภายใต้ชื่อ โครงการ 1 อำเภอ 1 หมู่บ้านลดต้นทุนการผลิตข้าว

..คาดว่าในปีแรกจะมีหมู่บ้านลดต้นทุนเพิ่มขึ้น 200 หมู่บ้านครอบคลุมทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวพื้นเมือง และจะกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ให้ครอบคลุมแหล่งปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับพี่น้องชาวนาต่อไป.

ที่มา :  เดลินิวส์

Categories
ประกาศ

เปิดตัว Chatting Line Kongsawat

Line Chattingบริการนี้เป็นการปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยครับ เพื่ออำนวยนอกเหนือไปจากการส่ง email โดยท่านสามารถพิมพ์เข้ามาสอบถามได้ทุกเรื่อง ทุกคำถาม ทางเรามีพนักงานพร้อมให้บริการอยู่แล้ว

ประโยชน์อื่นๆ ของการใช้ App Chatting ในการติดต่อ

  • หากท่านไม่สะดวกในการพิมพ์ ท่านสามารถจดไส่กระดาษแล้วถ่ายรูปส่งมาได้ครับ
  • เพื่อความรวดเร็วในการขอแผนที่ทั้งเข้ามารับ และจัดส่ง หรือส่งรูปตัวอย่างสินค้าอื่นๆ
  • ลดความผิดพลาดในการสั่งสินค้า เนื่องจากสัญญาณโทรศัพท์ หรืออื่นๆ
  • สามารถย้อนดูรายการได้ ทุกรายการ
Categories
บทความ

ข้อคิดสำหรับผู้ที่อยากเป็นเกษตรกร ตอนที่ 2

ความเดิมจากบทความที่เขียนโดย คุณ สวนวสา ที่เราได้นำเสนอไปนั้น จะจบอยู่ที่หัวข้อของการเตรียมตัวและการวางแผนนะครับ ซึ่งก็พูดถึงข้อคิดต่างๆในการเตรียมอุปกรณ์ ระบบการให้น้ำ รวมทั้งการบำรุงรักษาอุปกรณ์นั้นๆให้คงอยู่กับเราไปนานๆ ซึ่งท่านสามารถอ่านได้จาก ที่นี้

แต่สิ่งที่คุณ สวนวสา ได้ให้ข้อคิดแก่พวกเรายังไม่จบแค่นั้นครับ ยังมีอีกหลายอย่างที่เราควรจะคิดถึงมันก่อนที่เราจะลงมือทำเกษตรอย่างเต็มตัว ว่าแล้วเรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า

–  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –

คนงาน

  1. ควรมีให้พร้อมค่ะ แต่อย่าคาดหวังอะไรมากเกินไป เพราะคนงานก็คือคนงานค่ะ ถ้าเขาขยันและฉลาดกว่านี้ เขาก็ไม่มาเป็นคนงานค่ะ การดูแลคนงานให้อยู่กันนานๆ บางทีก็ต้องหลับตาข้างหนึ่งค่ะ บางทีเขาอาจจะกินเหล้า เล่นหวย อู้งานบ้าง ตราบใดที่งานที่สั่งไว้เขาทำสำเร็จ ก็พอไปรอดค่ะ ที่สำคัญคือต้องไว้ใจได้ ของในสวนอย่าหาย (อาจมีเก็บไปกินบ้างก็ปล่อยๆ ไปค่ะ) แต่ประเภทยกมอเตอร์ไปขาย หรือให้เมียเปิดแผงที่ตลาดขายผลไม้ที่ขโมยมาจากในสวนเรา อันนี้ก็ต้องให้จรลีไปค่ะ ที่สวนวสาอนุญาตให้คนงานปลูกพืชผักที่อยากกินได้ตามสบาย หาเมล็ดผักมาให้เขาด้วย ผลไม้ในสวนหากอยากกินก็ให้เอาไปแต่พอกิน แต่ห้ามเอาไปขาย ให้จับปลาในร่องสวนมากินได้ แต่ห้ามจับไปขาย เว้นแต่คนงานจะลงทุนซื้อลูกปลามาเลี้ยงในกระชังเองก็ให้ทำได้แต่ต้องเลี้ยงนอกเวลางาน อยากเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ก็ให้เลี้ยงได้ในพื้นที่จำกัด เขาจะได้เก็บไข่กินได้เอง แต่ไม่อนุญาตให้ทำเพื่อค้าขาย ไม่งั้นวันๆ เอาแต่บำรุงรักษาพืชผักเป็ดไก่ของตัวเองจนไม่ได้ทำงานของเรา
  2. ค่าจ้างคนงาน ส่วนมากเราใช้จ้างเป็นรายวันค่ะ แต่มีหัวหน้าคนงานที่เราจ่ายเป็นรายเดือน ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 120-180 บาทค่ะ คนต่างด้าวจะได้ที่ราวๆ 120-150 บาท คนไทยได้ที่ 150-180 บาทค่ะ หากเกิน 5 โมงเย็นก็จะมีค่าล่วงเวลาให้ (ช่วงที่เร่งเก็บผลไม้และคัดแยกน่ะค่ะ) บางทีคนซื้อผลไม้เราเขาก็จะจ่ายค่าแรงให้คนงานเราในวันที่เก็บผลไม้ให้เขา  เราก็ประหยัดไปได้ค่ะ เช่น การซื้อมะม่วงแบบเหมาสวน พ่อค้าจะมาพร้อมคนงานคัดแยก แล้วเขาจ้างเราเก็บผลไม้ให้ โดยให้ค่าแรงรายวันกับคนงานเราค่ะ ค่าจ้างนี่เราอาจปรับขึ้นให้ปีละหน ปลายปีอาจมีเงินแถมให้นิดหน่อยได้ค่ะ
  3. วันหยุด คนงานไทยในต่างจังหวัดจะขอมีวันหยุดตามวันสำคัญทางศาสนาค่ะ เช่น วันเข้าพรรษา วันทำบุญทอดกฐิน วันสงกรานต์ วันแต่งงานญาติ วันงานศพญาติ ฯลฯ เรื่องพวกนี้เราต้องปล่อยวางค่ะ เกษตรกร part-time หลายคนอาจไม่ค่อยพอใจเพราะตรงกับวันหยุดยาวที่เราจะเข้าสวนได้พอดีเช่นกัน ก็ต้องทำใจค่ะ นอกจากนี้ วันหวยออก เป็นวันที่คนงานไม่ค่อยมีกะจิตกะใจทำงานกันเท่าไหร่ ดังนั้น พยายามอย่าคาดหวังมากค่ะ คุยกันให้เข้าใจตั้งแต่เริ่มงาน จะทำให้ความรู้สึกดีทั้งสองฝ่ายค่ะ
เกษตรมือใหม่ คนงาน

การหาความรู้เพิ่มเติม

  1. เป็นเกษตรกรต้องหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอค่ะ ซึ่งแหล่งความรู้ที่ง่ายที่สุด เร็วที่สุด และไม่เสียเงินคือการหาตามเวบไซต์ แค่เข้าไปที่ google แล้วคีย์คำที่ต้องการทราบ เช่นคำว่า โรคมะนาว หรือ มะละกอใบหงิก ก็จะปรากฏรายการเวบต่างๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับคำที่ท่านคีย์เข้าไปมาให้ท่านได้ลองเข้าไปอ่าน หากไม่เจอข้อมูลที่ต้องการค่อยมาตั้งกระทู้สอบถามเพื่อนๆเกษตรกรท่านอื่นเพิ่มเติมได้ค่ะ อย่างไรก็ตามข้อมูลต่างๆ บนเวบอาจจะมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปบ้างแล้วแต่เวบไซต์ที่เปิดเจอ เช่น เจอเวบขายปุ๋ยข้อมูลที่ออกมาอาจชี้นำไปสู่การซื้อปุ๋ยยาของเขา ดังนั้น อยากให้เกษตรกรเชื่อข้อมูลในเวบไซต์ของทางการเป็นหลัก เช่น เวบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (http://www.ku.ac.th/) เวบของกรมส่งเสริมการเกษตร (http://www.doae.go.th/) เป็นต้น เวบเหล่านี้มีข้อมูลที่น่าสนใจมากมายค่ะ หลายเวบมีรูปภาพประกอบด้วย อยากให้เกษตรกรได้ลองขวนขวายหาความรู้ด้วยตัวเองจากหลายๆแหล่งข้อมูลค่ะ จะได้คิดวิเคราะห์ได้รอบทิศ ดีกว่าการมาตั้งกระทู้ถามเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าผู้ตอบแต่ละคนมีความรู้ในด้านนั้นๆ จริงหรือไม่ บางเรื่องแม้ผู้ตอบมีความประสงค์ดี แต่ตอบเอาตามที่นึก (เอาเอง) ว่ามันน่าจะเป็นเช่นนั้นโดยไม่มีประสบการณ์หรือหลักวิชาการสนับสนุน แล้วเกษตรกรไปทำตาม ผู้ที่เสียหายคือเกษตรกรเองค่ะ
  2. นอกจากเวบไซต์แล้ว ก็มีหนังสือและวารสารเกษตรต่างๆ ที่สามารถหาอ่านเพิ่มความรู้ได้ค่ะ เช่น วารสารเคหเกษตร วารสารเมืองไม้ผล วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เป็นต้น สวนวสาได้มีโอกาสไปเยือนสวนเกษตรต่างๆ เพื่อเสาะหาพันธุ์พืชที่ต้องการก็ใช้ดูเอาตามวารสารพวกนี้ค่ะ บางทีเขาก็มีการจัดอบรมให้ฟรีๆ มีวิทยากรที่มีความรู้มาพูด มีเพื่อเกษตรกรที่มีประสบการณ์มาแบ่งปันเทคนิค เราก็จะได้ประโยชน์ค่ะ แต่ไม่ใช่ว่าวารสารทุกเล่มจะจัดงานได้ดี สวนวสาเคยไปร่วมงานหนึ่งเป็นการอบรมครึ่งวัน แต่กว่าการกล่าวเปิดงานของบุคคลสำคัญต่างๆที่เชิญมาจะหมดก็ปาเข้าไปเกือน 10 โมงแล้ว แล้วยังพักเบรคยาวๆ ให้คนที่มาอบรมไปซื้อของที่สปอนเซอร์ต่างๆ มาออกร้านขาย ในที่สุดได้ฟังคนบรรยาย (แบบรีบๆ ให้จบ) แค่ไม่ถึงชั่วโมง เสียเวลาไปเหมือนกันค่ะ
  3. หนังสือเกี่ยวกับคู่มือการเกษตรต่างๆ รวมถึงผลงานวิจัยบางงานที่มีประโยชน์ มีจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ศูนย์หนังสือจุฬา ที่ร้านหนังสือแพร่พิทยา และตามงานเกษตรแฟร์ นอกจากนี้ยังมีแจกให้ฟรีโดยกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัด อำเภอ และหน่วยงานราชการบางหน่วยงาน ลองติดต่อขอไปดูได้ค่ะ

เกษตรมือใหม่ ความรู้เพิ่มเติม

ความต้องการ กับ ความเป็นจริง

ผู้ที่อยากเป็นเกษตรกรหลายท่านที่ทำงานประจำอยู่ ควรพิจารณาบริหารเวลา ครอบครัว และทุนทรัพย์ให้รอบคอบก่อนลงมือค่ะ บางทีเรามาอ่านๆ ในเวบต่างๆ เห็นคนอื่นเขาซื้อที่ดินกัน ลงมือทำกัน ก็เกิดแรงบันดาลใจอยากทำบ้าง แต่นั่นอาจเป็นความต้องการของคุณคนเดียวหรือเปล่า ลองดูปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้ด้วยค่ะ

  1. เวลา – คุณทำงานประจำในวันเสาร์อาทิตย์หรือเปล่า เพราะการเป็นเกษตรกร part-time นั้นอย่างน้อยต้องมีเวลาเสาร์-อาทิตย์ที่จะไปดูแลพืชผลที่ปลูกได้ หรือหากทำงานส่วนตัว ก็ต้องถามว่าสามารถจัดเวลาได้หรือเปล่าที่จะหาเวลาว่างแวะเวียนไปดูแลการเติบโตของพืชผล และแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หลายๆ คนไฟแรงแต่ตอนแรกๆ พอสักห้าหกเดือนผ่านไป ก็ทิ้งระยะเสียแล้ว จากทุกอาทิตย์ เป็นเดือนละหน เป็นสองเดือนหน ในที่สุดเหลือปีละหน อย่างนี้สิ่งที่ลงทุนไปก็จะเสียเปล่าค่ะ การทำเกษตรนั้นคนทำต้องมีความรับผิดชอบ (discipline) ที่ต่อเนื่องค่ะ ยิ่งถ้าที่ดินอยู่ไกลจากที่บ้านหรือที่ทำงานมากๆ อย่างที่เขียนไว้แล้วด้านบน ว่าส่วนใหญ่เจอค่าน้ำมันและเวลาขับรถไปก็จะท้อใจในที่สุด
  2. ครอบครัว – เป็นสิ่งสำคัญค่ะ การซื้อที่ดินทำเกษตรนี่ครอบครัวทางบ้านต้องสนับสนุนนะคะ เพราะบางครั้งเป็นความต้องการเฉพาะของคุณพ่อบ้านอย่างเดียว แต่ครอบครัวทางบ้านไม่สนับสนุน เพราะเคยได้ยินคุณแม่บ้านบ่นว่าเสาร์อาทิตย์แทนที่จะได้พาลูกไปเรียนพิเศษ หรือได้ไปท่องเที่ยวกันตามแหล่งท่องเที่ยว ก็ต้องไปใช้ชีวิตกลางแดดร้อนๆ ขุดดิน ปลูกพืช เรื่องแบบนี้คุณแม่บ้านบางคน และเด็กๆ ไม่เข้าใจค่ะ อยากให้ทำความเข้าใจกันในบ้านให้เรียบร้อยก่อน เพราะไม่งั้นอาจมีปัญหาภายในครอบครัวได้ค่ะ
  3. ทุน – สะสมมาพอไหม เวลาคำนวณเงินลงทุน คิดให้รอบคอบด้วยค่ะ นอกจากค่าที่ดิน ค่าคนงาน ค่ากิ่งพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าระบบน้ำ ค่าอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ แล้ว คิดได้เท่าไหร่ ให้คูณ 3 ไว้ก่อนเลย เพราะจริงๆ มันจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่คุณไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีกมากๆๆๆๆๆ  และถ้าเงินสะสมของคุณไม่มากพอ นำไปสู่การเป็นหนี้สินเพื่อนำมาลงทุน มันจะไม่ยั่งยืนน่ะค่ะ
เกษตรมือใหม่ ความเป็นจริง

จากปัจจัยเรื่องเวลา ครอบครัว และทุนที่พูดถึงด้านบน  ก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือกชนิดพืชเพื่อทำสวนเกษตรเบื้องต้น ดังนี้ค่ะ

  1. สวนป่า – ถ้าที่ดินอยู่ไกล เวลามีน้อย  ภาระครอบครัวมีมาก ทุนมีกลางๆ ในช่วง 5-10 ปีนี้ แต่อยากเริ่มแล้ว ก็อยากให้พิจารณาเริ่มที่การทำสวนป่าไปก่อน คือ ปลูกพืชที่ตัดไม้ขายในภายหลัง เช่น สน ยูคา สัก หรือไม้ป่าอื่นๆ เพราะจะหนักแค่ช่วงปรับปรุงดินแรกๆ พอต้นกล้าตั้งหลักได้แล้ว ก็ผ่อนภาระการสิ่งไปดูแลบ่อยๆ ไป 5 – 10 ปี เช่นไปเดือนละหน หรือ สองเดือนหน ก็ได้ แต่ต้องไปนะคะ ไม่งั้นเพื่อนบ้านอาจจะมาบุกรุกเขาไปปลูกอะไรต่อมิอะไรเป็นการบันเทิงไป เราเจอมาแล้วกับที่ดินของเราที่อยู่ไกลๆ ไม่ค่อยได้ไปสามสี่เดือน มีสวนพริก สวนถั่ว เกิดขึ้นมาในที่ดินเราเฉยเลย ดีไม่ดีต้นกล้าที่เราปลูกไว้อาจเจอพืชอื่นเบียดเบียนตายไปก็ได้ หรือไม่ก็เจอมาแล้วค่ะ ที่ชาวบ้านเข้าไปจุดคบไฟหาหนู แล้วทำไฟไหม้สวนเราไปครึ่งสวน     พวกสวนป่านี่ช่วงท้ายๆ ต้องเฝ้ากันดีๆ ด้วยเพราะไม่งั้นชาวบ้านแอบมาตัดไม้เราไปขาย ก็มีค่ะ
  2. พืชอาหาร – ต้องการเวลาอย่างมากค่ะ อย่างที่เขียนมาแล้วว่าผู้ปลูกต้องมีความสม่ำเสมอในการไปดูแล เพราะไม่งั้นเผลอแป๊บเดียวโรคหรือแมลงลง ต้นไม้อาจจะตายไปทั้งสวนก็ได้ค่ะ ฝากคนงานเขาก็คงไม่ได้ใส่ใจมาก เพราะไม่ใช่สวนของเขาน่ะค่ะ พืชอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ พืชตระกูลธัญพืช หรือผักต่างๆ ต้องดูแลใกล้ชิดค่ะ นอกจากนี้ช่วงเก็บผลผลิตก็ต้องคอยหาตลาดให้ดี วางแผนการเก็บให้ดี การขนส่ง การเก็บรักษาอีก หากเกษตรกรยังไม่พร้อมก็แบ่งที่ดินปลูกเฉพาะที่พอกินเองไปก่อน ส่วนที่ดินที่เหลือก็ปลูกไม้ยืนต้นพวกสวนป่าไปก่อนค่ะ
  3. พืชพลังงาน – พลังงานกำลังขาดแคลน คนเลยเห่อปลูกพืชพลังงานกันใหญ่ ตั้งแต่พวกมัน อ้อย ปาล์ม สบู่ดำ ฯลฯ ราคาก็ขึ้นลงตามที่เราเห็นๆ ค่ะ พืชน้ำมันนี่มันแทนที่พื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารนะคะ เวลานี้ทั่วโลกกำลังมีประเด็นเรื่องอาหารขาดแคลน เพราะหลายประเทศที่เคยทำเกษตรกรรมอาหาร เช่น มาเลย์ อินโด บราซิล อาร์เจนติน่า หันไปปลูกพืชพลังงานและยางพารากันใหญ่  ในระยะยาวแล้วราคาพืชอาหารจะแซงพืชพลังงานค่ะ สวนวสาจึงอยากเชียร์ให้ทุกคนกัดฟันปลูกพืชอาหารกันไปก่อนค่ะ  และจะให้ข้อคิดสำหรับคนที่อยากปลูกพืชน้ำมันว่าควรอยู่ใกล้แหล่งรับซื้อนะคะ เช่นปลูกปาล์มควรอยู่ใกล้ๆ โรงกลั่นนะคะ หากมีหลายๆ โรงในพื้นที่ยิ่งดีค่ะ ไม่งั้นเก็บผลผลิตแล้วส่งไม่ได้ก็จะเสียหายมากค่ะ เราจะเห็นว่าบางทีพอราคาขึ้นและน้ำมันที่กลั่นแล้วยังขายไม่ได้ บางโรงกลั่นเขาปิดไม่รับซื้อก็มีค่ะ หากมีตัวเลือกก็จะดีค่ะ เพราะพืชน้ำมันนี่เอาไปวางขายตามตลาดก็ไม่ได้ กินเองก็ไม่ได้ ต้องขายเข้าผู้แปรรูปอย่างเดียวเลย

เกษตรมือใหม่ ปัจจัยต่างๆ

Categories
บทความ

ข้อคิดสำหรับผู้ที่อยากเป็นเกษตรกร ตอนที่ 1

บทความทางทีมงานของเราไปเจอเข้าโดยบังเอิญ  ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อหลายท่านที่มีอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับท่านที่ต้องการเริ่มต้นเป็นเกษตรกรเต็มตัว

บทความนี้เขียนโดย คุณ สวนวสา จากเว็บ http://www.kasetporpeang.com/ โดยบทความต้นฉบับผู้เขียนแบ่งเนื้อหาไว้ค่อนข้างดีมาก แต่เนืองจากเนื้อหามีจำนวนมาก ทางเราจึงขอแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกนี้จะมีบทนำ เรื่องขอทำเลที่ดิน การเลือกพืชที่จะปลูก การทำตลาด การเตียมตัวและวางแผน  ซึ่งสมควรอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากออกจากที่ทำงานได้ศึกษาพิจารณา ก่อนการตัดสินใจ ส่วนบทความที่เหลือทางเราจะนำมาลงต่อเร็วๆนี้ครับ

–  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –

เรียน  ว่าที่เกษตรกร เกษตรกรมือใหม่เอี่ยม และเกษตรกร part-time ทุกท่าน

จากที่เราได้คุยกับว่าที่เกษตรกรและเกษตรกรมือใหม่หลายท่านที่มาติดต่อซื้อเมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ และท่อน้ำหยดจากสวนวสา ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เลยต้องขออนุญาตเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้ว่าที่เกษตรกรและเกษตรกรมือใหม่ไฟแรงหลายๆท่านลองพิจารณาเป็นข้อคิดก่อนจะลงมือทำอะไรไป เพราะการลงทุนในสาขาการเกษตรนั้น ไม่ว่าจะเพื่อหวังผลกำไร หรือแค่หวังเพื่อใช้เวลาว่างทำงานอดิเรกปลูกต้นไม้ ทุกอย่างที่ลงไปก็เป็นเงินทองที่เราเก็บหอมรอมริบมาทั้งนั้น  หากลงทุนไปโดยขาดการไตร่ตรองล่วงหน้า หรือขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ เมื่อเกิดผลเสียหาย ผลขาดทุน ความยุ่งยากที่ตามมามักทำให้เกษตรกรมือใหม่หลายคนท้อแท้ และเลิกไปในที่สุด  ซึ่งทางสวนวสาไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เราไม่อยากให้อาชีพเกษตรกรหายไปจากประเทศไทย ตรงกันข้ามเราอยากให้มีเกษตรกรรุ่นใหม่เกิดขึ้นมามากๆ คนที่มีการวางแผน มีการควบคุมผลผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพของโลก

ว่าด้วยเรื่องของที่ดิน

การจะเริ่มทำการเกษตรได้นั้นเราควรมีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่ก่อนจะลงมือซื้อที่ดินผืนใด ขออนุญาตให้ข้อคิดเกี่ยวกับปัจจัยที่สำคัญก่อนซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร ดังนี้

  1. ในที่ดินต้องมีแหล่งน้ำหรือติดกับแหล่งน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งปี เพราะการซื้อที่ดินที่ไม่มีน้ำ ก็เท่ากับไม่มีประโยชน์ในเชิงเกษตร แหล่งน้ำที่ว่านี้อาจจะเป็นคลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ คลองธรรมชาติ แม่น้ำ ฯลฯ ถ้าเป็นที่ผืนใหญ่ไม่ควรเป็นน้ำบาดาล เพราะอาจมีปริมาณไม่พอเพียงและอาจจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการตะกอนในภายหลัง
  2. ที่ดินควรใกล้กับถนน และไม่ไกลจากบ้านที่อยู่ประจำของคุณมากนัก การไปมาทำได้ง่าย เมื่อการเดินทางสะดวก ก็ทำให้เรารู้สึกอยากไปเยือนบ่อยๆ โดยเฉพาะเกษตรกร part-time ที่ต้องทำงานในวันธรรมดาและไปทำสวนได้เฉพาะวันหยุด หากคุณต้องขับรถ 500 กม. เพื่อไปสวนในวันเสาร์ และขับกลับอีก 500 กม. ในวันอาทิตย์ คุณจะเหนื่อยและท้อไปในที่สุด ระยะทางที่เหมาะสมน่าจะไม่เกิน 200 กม. จากบ้านคุณ อย่างไรก็ตามปัจจัยเรื่องระยะทางนี้ขึ้นกับทุนและความชอบส่วนบุคคล นอกจากนี้ราคาน้ำมันก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย คำนวณค่าน้ำมันคร่าวๆ ว่าระยะทาง 200 กม. รถคุณกินน้ำมันเฉลี่ย 8 กิโลลิตร น้ำมันลิตรละ 30 บาท ไป-กลับ จะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าน้ำมัน 1,500 บาทต่อเที่ยว เดือนหนึ่งไป 4 ครั้งก็ประมาณ 6,000 บาท ปีละ 72,000 บาท เทียบกับราคาที่ดินที่อาจจะแพงกว่าแต่ใกล้กว่า อย่างไหนคุ้มกว่ากัน อันนี้ควรคำนวณให้รอบคอบค่ะ
  3. ที่ดินควรใกล้ตลาดหรือชุมชน หรือผู้ซื้อรายใหญ่ เพื่อที่จะสามารถขนส่งผลผลิตเพื่อจำหน่ายได้โดยง่าย (หากคิดจะปลูกเพื่อจำหน่าย) เช่น อยากปลูกมะม่วงส่งออกแต่ผู้ปลูกอยู่ภาคใต้ ส่วนผู้ส่งออกอยู่ภาคเหนือและภาคกลาง อย่างนี้ ถ้าปลูกไม่มากพอก็จะไม่มีผู้ซื้อวิ่งไปซื้อแน่ๆ ค่าน้ำมันทุกวันนี้แพงมากๆ ค่ะ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผู้ซื้อมักจะถามก่อนว่าปลูกกี่ไร่ กี่ต้น ผลผลิตกี่ตัน (ถ้าไม่ถึง 4-5 ตัน ส่วนมากรายใหญ่เขาไม่วิ่งมาค่ะ)
  4. ควรมีเพื่อนบ้านและสังคมที่ดี ก่อนซื้อที่ดินควรลองไปสำรวจดูว่าเพื่อนบ้านมีอัธยาศัยเป็นอย่างไร ที่ดินบางผืนราคาถูกเพราะเพื่อนบ้านขี้ขโมย ผลผลิตอะไรออกมาหายหมด ติดตั้งปั๊มน้ำก็หาย บางทีเผลออาทิตย์เดียวบ้านทั้งหลังรื้อเอาไปขายก็มี ลองไปถามสถานีตำรวจในพื้นที่ดูว่าคดีลักขโมยมีแยะไหม ใครเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และทัศนคติเขาเป็นอย่างไร
  5. ที่ดินควรมีต้นไม้ขึ้นอยู่ในที่บ้าง เพื่อแสดงว่าดินที่นี่ปลูกต้นไม้ได้ บางคนไปซื้อที่ดินที่เตียนโล่งแม้แต่หญ้าก็ไม่ขึ้น แล้วมาดีใจว่าไม่ต้องถางหญ้าปรับที่ดิน ซึ่งแท้ที่จริงเป็นดินเค็มที่เพาะปลูกอะไรไม่ได้  หากเป็นไปได้ลองสังเกตด้วยว่าต้นไม้ที่ขึ้นในที่ดินนั้นเป็นต้นอะไรเพื่อจะได้ทราบว่าที่ดินผืนนั้นเพาะปลูกผลไม้ชนิดใดได้ดีที่สุด
  6. ที่ดินทำสวนเกษตรส่วนใหญ่ควรเป็นพื้นราบ เพราะหากเป็นที่ลาดชันเวลารดน้ำต้นไม้ น้ำจะไหลลงเบื้องล่างหมด หากต้องทำขั้นบันไดก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าที่ดินผืนราบ แต่หากจะปลูกไม้ยืนต้นพวกไม้ป่า ก็เป็นที่เนินเขาได้ค่ะ ทั้งนี้ขึ้นกับพืชที่เลือกจะปลูก
  7. ไม่ควรเป็นที่น้ำท่วมขัง ที่ดินบางผืนในช่วงฤดูฝนจะตรงกับแนวน้ำท่วมพอดี อย่างนี้ปลูกพืชอะไรไม่ทันเก็บเกี่ยวก็ตายหมด แล้วอย่ามาดีใจว่าไม่ปลูกพืชก็ได้ไหนๆน้ำมากเลี้ยงปลาเสียเลย ขอโทษค่ะ พอน้ำท่วมขึ้นมาปลาที่เลี้ยงก็หายหมดเหมือนกัน
  8. ให้สำรวจหน้าดินของที่ดินที่ซื้อด้วยค่ะ พอดีมีเพื่อนเกษตรกรโทรมาปรึกษา มีที่ดินแต่หน้าดินที่ปลูกพืชได้มีเพียง 1-2 เมตรลึกลงไปกว่านั้นกลายเป็นดินผสมหินแบบแข็งเลย รากพืชชอนไชลงไปไม่ได้ อย่างนี้หากก่อนซื้อเตรียมแผนไว้ก็คงต้องปรับแผนเพื่อปลูกพืชที่มีระบบรากไม่ลึกมากค่ะ
  9. เวลาซื้อที่ดิน อย่ามองแค่ค่าที่ดินอย่างเดียว ให้คำนึงถึงว่าจะต้องมีค่าปรับปรุงที่ดินอีกเท่าไหร่ด้วย เช่น หากที่ดินมีต้นไม้รกเรื้อ หรือมีการขุดร่อง ขุดแนวคันเอาไว้ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเกษตรกร ต้องจ้างรถแม้คโครปรับปรุงใหม่อีกเท่าไหร่  ที่ดินมีไฟฟ้า มีถนนถึงหรือยัง หากซื้อที่ดินร่วมกับคนอื่นก็ต้องจ่ายค่าทำถนนเข้าไปยังที่ดินอีกเท่าไหร่ ค่าเดินสายไฟเข้าไปยังที่ดิน ค่าขุดคลองส่งน้ำหรือระบบชลประทาน แล้วยังค่าใช้จ่ายในการแบ่งแยกโฉนดอีก เรื่องพวกนี้รวมๆ แล้วอาจทำให้ที่ดินไร่ละ 5 หมื่นกลายเป็นไร่ละ 3 แสนก็เป็นได้ค่ะ
  10. การซื้อที่ดินร่วมกับคนอื่น ควรตกลงกันให้แน่ชัดตั้งแต่แรกว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ จะร่วมกันรับผิดชอบอย่างไร ค่าโอนที่ดิน ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ นอกจากนี้ถนนที่จะตัดเข้าไปยังที่ดินของแต่ละคนจะตกลงค่าใช้จ่ายและกรรมสิทธิ์กันอย่างไร บางคนเห็นว่าที่ดินตนเองอยู่ด้านหน้าก็ไม่ต้องการร่วมออกค่าถนนกับคนที่ซื้อที่ดินที่ลึกไปด้านหลัง เลยทำให้มีปัญหากันได้ แล้วยังเรื่องน้ำ หากคนที่อยู่ต้นน้ำเก็บกักน้ำ คนที่อยู่ปลายน้ำจะทำอย่างไร ควรมีการทำสัญญากันไว้ให้ชัดเจน และเป็นภาระผูกพันกับที่ดิน เพราะหากวันนี้แม้เชื่อใจกัน ไม่มีปัญหากันก็จริง แต่พอผ่านไปหากคนหนึ่งขายที่ไปให้บุคคลอื่น ปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นได้ค่ะ

การเลือกพืชที่จะเพาะปลูก

  1. ก่อนจะปลูกอะไร กรุณาสำรวจสภาพดินและน้ำก่อนว่าเหมาะกับพืชในใจคุณหรือเปล่า อย่าบุ่มบ่ามลงมือปลูกตามกระแส หรือตามใจชอบ ตัวอย่างเช่นที่ดินสวนวสาเป็นดินเปรี้ยวเพาะปลูกพืชตระกูลส้ม-มะนาวได้ดี มะม่วง มะละกอได้ แต่ปลูกทุเรียน ลำไย มังคุดแล้วไม่โต (ลองแล้ว) ถึงกระนั้นก็ตามเวลาเรามี “เกษตรเกิน” (ผู้ที่แสดงตนว่ารู้มากกว่าเกษตรกร) มาเยี่ยมที่สวนก็มักจะแนะนำให้เราลองปลูกมังคุด ปลูกทุเรียนอยู่เสมอๆ เพราะส่งนอกได้ราคาดี คนแนะนำส่วนใหญ่ก็คิดแค่นั้น แต่เกษตรกรที่แท้จริงที่เป็นเจ้าของที่ดินควรศึกษาสภาพดินและน้ำก่อนลงมือปลูกอะไร เพื่อจะได้ประหยัดเวลาและทุนที่ถมลงไป
  2. ควรเลือกพืชที่จะปลูกมากกว่า 1 ชนิดเพื่อบริหารความเสี่ยง เผื่อชนิดหนึ่งราคาตกหรือขายไม่ออก ชนิดอื่นจะได้ช่วยเฉลี่ยรายได้ แต่ไม่ควรหลายชนิดเกินไปจนปริมาณไม่คุ้มค่าขนส่ง เช่น มีที่ดิน 1 ไร่ แต่อยากปลูกมะม่วง มังคุด ลำไย มะนาว พริกขี้หนู เพื่อส่งออก แบบนี้แนะนำว่าให้ลืมเรื่องส่งออกไปได้เลย ให้ปลูกแบบพอเพียง คือเก็บทานเอง หรือส่งตลาดแถวสวนจะดีกว่าค่ะ
  3. พืชแต่ละชนิดมีความต้องการน้ำไม่เท่ากัน หากจะปลูกผสมผสาน ควรเลือกพืชที่ต้องการน้ำ ปุ๋ยและยาคล้ายๆกันปลูกไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ปริมาณแสงก็เป็นสิ่งสำคัญ หากพืชชนิดหนึ่งต้องการแสงมาก ก็อย่าปลูกไว้ใกล้ๆกับพืชที่ให้ร่มเงา เช่น อย่าปลูกมะละกอไว้ใกล้กอไผ่ เพราะในที่สุดร่มเงาของไผ่จะบังมะละกอทำให้ไม่สามารถเติบโตได้ และเกิดโรคระบาดในที่สุด หรือ หากจะปลูกมะนาวทำนอกฤดู ก็ไม่ควรปลูกใกล้กับพืชที่ต้องการน้ำ เพราะพอเรางดน้ำเพื่อให้มะนาวออกดอก ต้นไม้ข้างๆ ก็จะตายไปด้วย ทำนองนี้
  4. ตามทฤษฎีพอเพียง ควรปลูกพืชชนิดให้ประโยชน์เกื้อหนุนกับการเกษตรของท่านด้วย เช่น หากปลูกส้มหรือมะนาว ก็ควรเผื่อพื้นที่สำหรับปลูกไผ่ไว้ด้วย เพราะเวลาค้ำต้นมะนาวหรือส้มต้องใช้ไม้ไผ่ แทนที่จะไปซื้อ ก็ปลูกเองประหยัดกว่า นอกจากนี้หากใครคิดทำเกษตรอินทรีย์ ก็ปลูกพวกสะเดา หนอนตายหยาก หรือสมุนไพรอื่นๆไว้ด้วย จะได้เอาไว้ทำเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายค่ะ
  5. นอกจากนี้ ให้คิดในใจเสมอว่า พื้นที่แต่ละพื้นที่มีลักษณะภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน อย่าคิดว่าการลอกเลียนแบบสวนที่ประสบความสำเร็จแล้วคุณจะประสบความสำเร็จด้วย การเกษตรไม่ใช่บะหมี่สำเร็จรูปที่ต้มกินที่ไหนก็รสชาติเดิม มักจะมีคนถามว่าหากปลูกมะนาวเหมือนสวนวสาต้องใส่ปุ๋ยเดือนไหน ฉีดยาเดือนไหน ฉีดอะไร ซึ่งขอเรียนว่า สวนวสาอยู่นครนายก สภาพภูมิอากาศและดินจะต่างจากสวนที่อยู่ราชบุรี พิษณุโลก หรือ เชียงใหม่ ดังนั้นเวลาที่ฉีดยา ใส่ปุ๋ย เก็บผลผลิตก็จะต่างกัน  ช่วงเวลาเดียวกันที่สวนวสาเจอโรคราน้ำค้างแต่สวนอื่นอาจเจอเพลี้ยแป้ง อย่างนี้ยาที่ใช้ก็ต่างกัน ต้องหมั่นสังเกตอาการของพืชแล้วค่อยคิดเรื่องการบำรุงรักษาพืชค่ะ
  6. เกษตรกรมือใหม่หลายๆ คนมักจะคิดว่า “พืช” ก็เหมือนวัตถุ สิ่งของ ที่ซื้อมาเก็บเอาไว้ก็ไม่เสื่อมสลาย ไม่เปลี่ยนรูป เหมือนเสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ ดังนั้นพออ่านประกาศโฆษณาขายเมล็ดพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์ชนิดโน้นชนิดนี้ ที่กำลังเป็นสมัยนิยมกัน ก็เกิดความอยากครอบครองเป็นเจ้าของ เลยสั่งมาเก็บไว้ก่อน ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ปลูก บางคนยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ซื้อที่ดินเลยด้วยซ้ำ!!! ทีนี้กว่าจะซื้อที่ กว่าจะปรับดิน ทำร่องน้ำ ทำระบบน้ำ เวลาก็ผ่านไปปีเศษ แล้วค่อยนำเมล็ดมาเพาะ แล้วก็พบว่า อ้าว.. เมล็ดที่ซื้อมาทำไมมันไม่งอก โดนหลอกขายมาแน่ๆเลย หรือไม่ก็เป็นกรณีกิ่งพันธุ์ที่ซื้อมา อุตส่าห์เอาลงกระถางไว้แล้วนะ บำรุงจนต้นโตเบ้อเริ่ม เอาลงดินมันต้องเก็บผลได้ในไม่กี่เดือนแน่นอน ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นนะคะ อัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็ตาม ยิ่งเก็บนานมันยิ่งมีอัตราการงอกต่ำ บางพันธุ์ดีหน่อยคืองอกแต่งอกช้า บางพันธุ์พอความชื้นในเมล็ดมันหมดเมล็ดก็แห้งตายไปและไม่งอกค่ะ ส่วนต้นไม้ ถ้าเรานำลงกระถางไว้นานๆ รากมันจะขดอยู่ในกระถาง เวลาเอาไปลงดินมันเลยโตช้า เพราะแทนที่รากจะได้ชอนไชไปหาอาหารไกลๆ ก็กลับจับวนกันเป็นก้อนที่ก้นกระถางค่ะ
  7. การเลือกพืชที่จะปลูก นอกจากความแท้ของสายพันธุ์แล้ว ควรพิจารณาวางแผนการปลูกให้ผลผลิตออกมาเป็นพันธุ์แท้ด้วยค่ะ จะได้ไม่มีปัญหาด้านการตลาด และการขยายพันธุ์ต่อไปในอนาคต ขออนุญาตยกตัวอย่างมะนาวไร้เมล็ด (ซึ่งการขยายพันธุ์ทำโดยการตอนกิ่ง) หากปลูกรวมกันในระยะใกล้กันกับมะนาวมีเมล็ด เช่น มะนาวแป้น ก็มีความเสี่ยงว่าผลที่ออกมาอาจจะมีเมล็ดเนื่องจากเกสรอาจจะผสมกันได้ ทำให้มีปัญหาด้านการตลาดต่อไป เช่นเดียวกับมะละกอ หากปลูกหลายสายพันธุ์ในพื้นที่เดียวกัน ก็อาจทำให้ผลที่ออกมามีรสชาติและกลิ่นแตกต่างไป ทำให้มีปัญหาด้านการตลาดค่ะ การปลูกพืชแนวผสมผสาน ไม่จำเป็นต้องปลูกพืชตระกูลเดียวกันในพื้นที่เดียวกันค่ะ

การทำตลาด

  1. การจะปลูกอะไร (เพื่อการค้า) ให้คิดว่าจะขายได้ที่ไหนก่อน ถ้าปลูกพืชแปลกมากและอยู่ไกลจากตลาด จะทำให้ขายยากค่ะ
  2. อย่าเห่อปลูกตามกระแส เกษตรกรที่ดี ควรประเมินสภาพตลาดให้ดีด้วย และอย่าดูเหตุการณ์เพียงจุดเดียว ช่วงปีที่แล้วมะนาวลูกละ 10 บาท เลยเกิดกระแสปลูกมะนาวกันใหญ่ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น 5 ปีมีคนฟันมะนาวทิ้งไปทั้งจังหวัดเพราะราคาร้อยละ 20 บาท ไม่คุ้มค่าปุ๋ยค่ายา อยากให้เกษตรกรมองไปข้างหน้ายาวๆ ก่อนตัดสินใจปลูกอะไร ให้เน้นพืชที่ยังไงก็ขายได้ในพื้นที่ตนเองก่อน เช่น มีคนส่งเสริมปลูกต้นตะกู กฤษณา ฯลฯ ก่อนปลูกให้หาข้อมูลว่าผู้รับซื้อมีกี่ราย ขายยังไง ขายที่ไหน หากผู้รับซื้อรายที่มาส่งเสริมไม่ซื้อ จะเอาต้นดังกล่าวไปทำอะไร สูตรของสวนวสาคือ อย่างน้อยเราเองก็ต้องกินหรือใช้ได้เองด้วย
  3.  หากสนใจจะปลูกเพื่อการส่งออก ควรมีพื้นที่เพาะปลูกในจำนวนมากเกินกว่า 10 ไร่ หากมีน้อยกว่า 10 ไร่ ปลูกขายในประเทศได้ แต่ปลูกส่งออกไม่คุ้มการลงทุนค่ะ (เว้นแต่ในพื้นที่มีการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดเดียวกันได้จำนวนมากพอที่ผู้ส่งออกจะสนใจ) มีระบบน้ำที่สม่ำเสมอ ที่ดินควรอยู่ไม่ไกลจากแหล่งส่งออก เกษตรกรต้องจดมาตรฐาน GAP ซึ่งมีกฎค่อนข้างมาก ต้องมีโรงเก็บปุ๋ย ยา แยกกัน มีโรงคัดแยกพืชผลที่แยกต่างหาก มีพื้นปูนไม่สัมผัสดิน ฯลฯ พวกนี้เป็นการลงทุนทั้งนั้นค่ะ ดังนั้นหากพื้นที่ใหญ่หน่อยจะคุ้มกว่าพื้นที่ขนาดเล็กค่ะ อย่างไรก็ตาม ขึ้นกับชนิดของพืชด้วยค่ะ มีสมาชิกบางท่านสามารถปลูกพริกหหรือผักส่งออกได้ในพื้นที่ 2 ไร่ก็มีค่ะ
  4. อย่าพยายามคิดการณ์ใหญ่เกินไปค่ะ จะสิ้นเปลืองทุนทรัพย์โดยใช่เหตุ เช่น ปลูกมะม่วงเพียง 5 ไร่ ผลผลิตปีละ 1 ตัน ในพื้นที่ก็ไม่มีคนอื่นเพาะปลูกพืชเหมือนๆกัน แต่คิดจะตั้งโรงงานแช่แข็ง หรือ โรงงานแปรรูปทำมะม่วงอบแห้ง หรือ คิดจะไปเซ้งแผงในตลาดไทเพื่อขายผลผลิตของตนเอง (เพราะมีเกษตรเกินมาแนะนำ) พอขายผลผลิตหมดก็ไม่รู้จะหาผลผลิตที่ไหนมาขายต่อ หรือแปรรูปต่อ จะเป็นการลงทุนโดยเสียเปล่าค่ะ หรือ การส่งสินค้าเข้าห้างก็เหมือนกันค่ะ ควรศึกษาเงื่อนไขให้ถ่องแท้ค่ะ บางทีนอกจากโดนหักเปอร์เซนต์แล้วเราต้องรับภาระสินค้าที่เน่าเสียหายเอง แถมกว่าจะเก็บเงินได้ต้องมีเครดิต 45 วันจึงจะได้เงิน  นอกจากนี้บางที่เขามีสัญญาให้ส่งแบบต่อเนื่อง หากส่งไปครั้งสองครั้งแล้วหยุดก็อาจโดนหักเงิน ทำนองนี้
  5. เรื่องการตลาดนี่ พอเขียนไปแล้วดูเหมือนจะทำให้หลายคนเครียดเกินไป วันนี้มีลูกค้าโทรมาหารือว่าถ้าผมปลูกมะนาว 20 ต้นจะหาตลาดได้ที่ไหน คำตอบที่สวนวสาให้คือ ให้หาตลาดแถวบ้านตัวเองค่ะ เพราะการปลูกมะนาว 20 ต้นนั้นผลผลิตต่อการเก็บ 1 ครั้งไม่น่าจะถึง 100 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยอาจจะแค่ 20-50 กิโลกรัม ดังนั้นหากคิดจะส่งตลาดไท แค่ค่าขนส่งก็มากกว่าค่ามะนาวแล้วค่ะ ส่วนการส่งออกไม่ต้องพูดถึงเลย นอกจากนี้หากมีร้านอาหาร ร้านค้าปลีกแถวบ้านก็สามารถไปติดต่อส่งได้ค่ะ สำคัญที่ขอให้รักษาผลผลิตให้มีป้อนร้านสม่ำเสมอและมีคุณภาพต่อเนื่องเท่านั้นเอง เรื่องการตลาดนี่ ไม่คิดถึงเลยก็ไม่ได้ คิดมากไปก็ไม่ดีค่ะ จะเครียดเปล่าๆ

การเตรียมตัว/วางแผน

  1. เมื่อมีที่ดินแล้ว มีทุนแล้ว ทราบว่าดินเป็นดินชนิดไหน เข้าใจสภาวะอากาศของพื้นที่แล้ว เลือกพืชที่เหมาะกับพื้นที่ได้แล้ว เราก็เริ่มวางแผนกันค่ะ อยากให้เกษตรกรทุกคนวางแผนบนกระดาษก่อนว่าจะแปลนสวนของตนเองอย่างไร บ้านจะอยู่ตรงไหน บ่อน้ำ(ถ้ามี) จะอยู่ตรงไหน และส่วนไหนกะว่าจะปลูกพืชอะไร จำนวนกี่ต้น
  2. ระบบน้ำเป็นสิ่งสำคัญค่ะ ก่อนจะลงพืชชนิดใดๆ ระบบน้ำควรจะพร้อมก่อน หากพื้นที่เป็นสภาพเนินเขา ก็ไม่เหมาะกับการทำระบบร่องน้ำที่มีน้ำหล่อแบบร่องสวนที่ทำกันในพื้นที่ราบ แต่ควรใช้การขุดทางระบายน้ำเพื่อว่าหน้าฝนน้ำสามารถไหลลงมาได้โดยไม่เอ่อขังที่โคนต้นไม้ และใช้ระบบรดน้ำแบบตามท่อน้ำหยดหรือสปริงเกอร์ โดยอาจสูบน้ำไว้ที่สูงและปล่อยมาตามแรงดึงดูดโลก หรือใช้ปั๊มน้ำก็ได้ค่ะ ส่วนพื้นที่ราบนั้นให้ศึกษาว่าระบบน้ำที่เราใช้เหมาะกับพืชหรือไม่ เช่น หากปลูกมะม่วง มะนาว ในดินเหนียวก็ไม่ควรใช้น้ำหยดแต่ควรใช้สปริงเกอร์ เพราะระบบน้ำหยดจะหยดอยู่แค่วงแคบๆ ในขณะที่รากพืชแผ่ขยาย  แต่หากปลูกพวกพริกหรือมะเขือเทศในถุงก็สามารถใช้ระบบน้ำหยด (dripping) ได้ค่ะ เรื่องการบริหารน้ำนี้มีผลต่อการเติบโตของพืชและคุณภาพผลผลิตค่ะ นอกจากนี้ มีเกษตรกรพาร์ทไทม์บางคนคิดว่าในช่วงเริ่มต้นไม่ต้องวางระบบน้ำก็ได้ พึ่งฝนฟ้าเอา และให้คนงานลากสายยางรดน้ำเอาก็ได้ พื้นที่แค่ไร่สองไร่เอง ก็อยากให้ทดลองรดน้ำเองดูค่ะว่าเหนื่อยแค่ไหน และก็อย่าหวังผลให้มากค่ะหากพืชผลออกมาไม่ได้ขนาด หรือร่วงไปแยะ หรือไม่ติดผล ซึ่งอยากให้คิดดีๆค่ะ ทีกิ่งพันธุ์เราไปอุตส่าห์เสาะหาจากแหล่งทั่วประเทศได้ ปุ๋ยหมักก็ไปเสาะหาส่วนประกอบต่างๆ มา ลงทุนลงแรงไปมากมาย แต่มาประหยัดกับเรื่องน้ำ แล้วต้นไม้ก็แคระแกร็น มันคุ้มไหม
  3. เมื่อระบบน้ำพร้อมแล้ว ก็มาถึงกิ่งพันธุ์ของพืชที่จะลงค่ะ แนะนำให้ศึกษาจากเวบไซต์เกษตรพอเพียงและหนังสือเกษตรต่างๆ ค่ะ ราคากิ่งพันธุ์พืชชนิดเดียวกัน อาจต่างกันตามผู้ขายค่ะ หากปลูกจำนวนมาก อยากให้ผู้ซื้อแวะไปที่สวนของผู้ขายแต่ละรายค่ะจะได้สัมผัสกับต้นพันธุ์ของจริง รู้ว่าแท้หรือไม่แท้ อย่าดูแต่ในรูปค่ะ เพราะหากปลูกพันธุ์ไม่แท้จะมีปัญหาเรื่องการตลาดค่ะ  นอกจากนี้ขอเรียนว่าราคากิ่งพันธุ์เป็นเงินลงทุนที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบสัดส่วนกับต้นทุนรวมทั้งหมดของการเกษตร อยากให้ผู้ซื้อพิจารณาหลักๆ ในเรื่องความเสี่ยงเรื่องความแท้ของสายพันธุ์ บวกกับค่าน้ำมันที่ต้องไปเสาะหากิ่งพันธุ์ที่ต้องการ ก่อนตัดสินใจค่ะ
  4. การบำรุงรักษา เมื่อปลูกพืชลงไปแล้วแน่นอนว่าจะต้องมีการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ฉีดยา ตัดแต่งกิ่ง เก็บผลผลิต ตัดหญ้าที่รกๆ ในแปลง รวมไปถึงการดูแลในกรณีฉุกเฉินต่างๆ เช่น เครื่องสูบน้ำพัง ไฟฟ้าตัด น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม ภาวะฝนแล้ง หนูแทะสายสปริงเกอร์ฯลฯ ดังนั้นหากท่านเป็นเกษตรกรเฉพาะเสาร์อาทิตย์ ก็ต้องมีคนงานที่ไว้ใจได้ช่วยดูแลค่ะ และค่าใช้จ่ายส่วนบำรุงรักษานี้ก็มากเสียด้วยสิ ที่สำคัญท่านต้องศึกษาหาความรู้ด้านนี้พอควรค่ะ ไม่งั้นโดนหลอกน่าดู เช่น หากจะจ้างคนมาตัดหญ้าควรจ่ายเหมาต่องานที่สำเร็จไม่ใช่จ่ายรายวัน เพราะบางทีก็มีอู้งานค่ะ
  5. อุปกรณ์การเกษตร ที่จำเป็นต้องใช้ในสวนหลักๆ นอกจากพวกจอบ เสียม เครื่องมือพื้นฐานแล้ว ก็มีพวกเครื่องตัดหญ้า เครื่องฉีดยาแบบสะพายหลังหรือแบบลาก ถังหมักหรือผสมปุ๋ย ตะกร้าสำหรับเก็บผลไม้ค่ะ อุปกรณ์การเกษตรพวกนี้เวลาซื้อให้คุยหลายๆ ร้านค่ะ แต่ละร้านจะเป็นเอเย่นของแต่ละยี่ห้อแตกต่างกัน ถามความเห็นเพื่อนๆ ในเวบนี้ก็ได้ค่ะ แต่ละคนจะมีประสบการณ์ในอุปกรณ์หลายๆ แบบค่ะ ควรเลือกให้เหมาะกับงานในสวนค่ะ ที่สำคัญ อย่าเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย เช่น เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายไหล่ ราคามันมีตั้งแต่ 1,000 กว่าบาท – 10,000 กว่าบาท ซึ่งต่างกันมาก ของถูกก็แน่นอนว่าคุณภาพก็ตามราคา ตัดหญ้าสามวันก็อาจจะหลุดเป็นชิ้นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าของแพงสุดจะดีที่สุดเสมอไป ให้ศึกษาจากเพื่อนเกษตรกรคนอื่นดูค่ะ ที่สำคัญ เวลาซื้ออุปกรณ์พวกนี้ต้องหาที่มีอะไหล่และศูนย์ซ่อมด้วยค่ะ บางยี่ห้อบอกว่าทนทานแต่คนเอามาขายขายแต่เครื่องอย่างเดียวไม่มีอะไหล่ พอเสียก็ต้องทิ้งเลย  นอกจากนี้หากมอเตอร์เสีย เครื่องตัดหญ้าเสียจะซ่อมที่ไหนที่ใกล้ๆ ไม่ต้องขนไปขนมาถึงกรุงเทพ ควรเตรียมข้อมูลแหล่งซ่อมที่เชื่อถือได้ค่ะ ไม่งั้นโดยฟันเละค่ะ

ที่มา  :  ข้อคิดสำหรับผู้ที่อยากเป็นเกษตรกร โดยคุณ  สวนวสา

 

Categories
รายละเอียดสินค้า

แหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้วิชาของแผ่นดิน

แหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้วิชาของแผ่นดิน

นางจารุรัฐ จงพุฒิศิริ ผู้อำนวย    การสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดเผยว่า ในโอกาสย่างก้าวปีที่ 15 ของพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์ฯ ได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน เน้นการเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้วิชาของแผ่นดินให้แก่ประชาชนมากขึ้น เพื่อจะได้นำวิชาชีพเหล่านั้นไปประกอบอาชีพและสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

“ในหลวงของเราทรงทำนา เกี่ยวข้าวและมีที่นาของพระองค์เองในสวนจิตรลดา พระองค์เป็นถึงพระมหากษัตริย์แต่ยังคงให้ความสำคัญในการทำนา การทำเกษตรนับเป็นแบบอย่างที่ดีกับคนไทยและเกษตรกรไทย” นางจารุรัฐ กล่าวผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เปิดเผยด้วย       ว่า จากแนวทางดังกล่าวทุก ๆ เสาร์และอาทิตย์สัปดาห์แรกของเดือนทางพิพิธ ภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จึงจัด “ตลาดนัดองค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้น ซึ่งตลาดนัดดังกล่าวจะมีความแตกต่างจากตลาดนัดอื่น ๆ คือ เป็นตลาดนัดองค์ความรู้และการเรียนรู้ด้านเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ที่สามารถมาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รู้จริง ทำจริง ได้ผลจริงทุก ๆ เดือนจะมีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเกษตร ที่เป็นเครือข่ายทางวิชาการมาถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพึ่งตนเอง มีการจัดอบรมวิชาของแผ่นดิน 8 หลักสูตรและฐานเรียนรู้ด้านการเกษตร 4 ภูมิภาค ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นเกษตรกรที่น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองและได้ผลจริงแล้วนำมาถ่ายทอด
นอกจากนี้ก็ยังมีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเกษตรทั่วประเทศทั้ง 4 ภูมิภาค กว่า 80 ร้านค้า มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจได้โดยง่าย อาทิ การทำผงนัวเป็นผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ผลิตจากผักพื้นบ้าน ที่ใช้แทนผงชูรสที่รู้จักกันทั่ว ๆ ไปได้ จะมีการสาธิตโดยเครือข่ายอินแปง จ.สกลนคร การทำบัวลอยสีจากสมุนไพรและผักพื้นบ้าน โดยกลุ่มเกษตรอินทรีย์อำเภอสนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

พร้อมกันนี้ก็ยังมีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเกษตรมาแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตร ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพที่เน้นวิถีการผลิตแบบพึ่งตนเอง มาจำหน่ายในราคายุติธรรมอีกด้วย และนอกจากตลาดนัดองค์ความรู้แล้วก็ยังมี “ฐานการเรียนรู้” ที่มุ่งเน้นการเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาจัดแสดงอีกด้วย อาทิ ฐาน 1 ไร่พอเพียง ซึ่งจะสาธิตวิถีเกษตรแบบพึ่งตนเอง เช่น การทำนา ปลูกผัก สมุนไพร ไม้ผล เพาะเห็ด เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ หมูหลุม การทำปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ การทำบ้านดิน การใช้โซลาร์เซลล์ต้นทุนต่ำเพื่อผลิตไฟฟ้าในบ้านเรือนและการเกษตร การทำเตาแก๊สชีวภาพ เป็นต้น

หรือฐานเกษตรพอเพียงเมือง จะนำเสนอต้นแบบเกษตรสำหรับคนเมืองที่มีพื้นที่น้อย เพื่อการพึ่งตนเองในการผลิตอาหารปลอดสารพิษ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยลดโลกร้อน เช่น การปลูกผักในบ่อซีเมนต์ การปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์ การปลูกพืชบนดาดฟ้า การนำขยะในครัวเรือนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ฐานมหัศจรรย์เกษตรไทย เป็นการนำเสนอความรู้แปลกใหม่ทางการเกษตรที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เช่น การปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์วงใหญ่ มะละกอตอนกิ่ง ปลูกผักในน้ำ และฐานนวัตกรรมที่อยู่อาศัย ที่เป็นการนำเสนอบนฐานความคิดของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ มาสร้างเป็นที่อยู่อาศัย ง่ายและประหยัด ตลอดถึงฐาน 9 ไร่ 9 แสน ที่เน้นการประยุกต์ใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำมาพัฒนาในพื้นที่แปลงขนาดเล็ก ด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสานและเทคโนโลยีสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน

ส่วนตลาดนัดประจำเดือนกรกฎาคมนี้ จะเป็น“ตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียง” ที่เน้นองค์ความรู้เกี่ยวกับ “มหัศจรรย์ผักพื้นบ้าน” สามารถเข้าเยี่ยมชมและฝึกอบรมวิชาชีพด้านต่าง ๆ ที่  เปิดการอบรมฟรี ในระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม 2555 นี้ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.wisdomking.or.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2529-2212-13 ในวันและเวลาราชการ.

ที่มา : ข่าวเกษตรเดลินิวส์
Categories
รายละเอียดสินค้า

ตั้งศูนย์ตรวจสินค้าเกษตร…เตรียมเข้าเขตเศรษฐกิจอาเซียน

ตั้งศูนย์ตรวจสินค้าเกษตร...เตรียมเข้าเขตเศรษฐกิจอาเซียน

นับวันมาตรฐานสินค้า เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เพราะการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันต้องใช้ชีวิตที่มีมาตรฐานรองรับความปลอดภัยเสมอ ดังนั้น มาตรฐานสินค้า จึงเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินใจที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานด้านความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหาร เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างไม่ถูกต้อง เกินความจำเป็นทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ และจากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปี 2547 เป็นปีแห่งความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety Year)  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รณรงค์และส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยจะได้แข่งขันในตลาดโลกได้

ตั้งศูนย์ตรวจสินค้าเกษตร...เตรียมเข้าเขตเศรษฐกิจอาเซียน

ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2553 ส.ป.ก.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรที่ต้องการนำสินค้าเกษตรของตนเองมาตรวจสอบเพื่อรับรองมาตรฐาน  โดยเน้นพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด คือ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรด เนื่องจาก ส.ป.ก. มีพื้นที่รองรับโครงการประมาณ 34 ล้านไร่  เกษตรกร 1.5 ล้านครัวเรือน ส่วนใหญ่ผลิตพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก

ตั้งศูนย์ตรวจสินค้าเกษตร...เตรียมเข้าเขตเศรษฐกิจอาเซียน

สำหรับศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินนี้ กำลังจะได้รับการยอมรับในเรื่องของหน่วยรับรอง (Certification Body :CB) จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ  ส.ป.ก.ได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของเกษตรกรและการปฏิบัติงานในพื้นที่  ทั้งพัฒนาบุคลากรเพื่อที่จะเป็นผู้ตรวจประเมินแปลงที่ดิน และเตรียมพร้อมเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความรอบรู้พร้อมที่จะปรับระบบการผลิตของตนเองเพื่อเข้าสู่กระบวนการรับรองสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน และก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ในปี 2558 นี้

เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่ศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ศึกษาและอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน  โดยศูนย์แห่งนี้ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรดีมาก โดยเฉพาะผู้นำชุมชนและกลุ่มเกษตรกรในระดับพื้นที่  ซึ่งถือเป็นสื่อกลางสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปยังเกษตรกรรายอื่น ๆ ได้อย่างดี ที่ผ่านมามีผู้นำที่ผ่านการอบรมประมาณ 550 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้นำที่เป็นอาสาปฏิรูปที่ดิน  ผู้นำชุมชน ผู้นำกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้แทนเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรที่ผ่านการอบรมแล้วประมาณ  2,534 ราย ซึ่งมีจำนวนเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ (เป้าหมาย 1,500 ราย) ในพื้นที่ 50 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรฯ สามารถออกใบรับรองให้เกษตรกรได้แล้ว และในปีนี้ มีเกษตรกรยื่นคำขอรับการตรวจรับรองจำนวน 400 รายแล้ว

อย่างไรก็ตามหากเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินรายใดที่ปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 4 ชนิดดังกล่าว ต้องการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าก็สามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมไปที่…สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดใกล้บ้านท่านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆทั้งสิ้น.

ที่มา : ข่าวเกษตรเดลินิวส์
Categories
รายละเอียดสินค้า

ขยายเวลารับจำนำข้าว

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาเกษตรกรในช่วงเปลี่ยนผ่านโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2555/56 โดยเห็นชอบในหลักการปรับเลื่อนระยะเวลาการรับจำนำข้าวเปลือกให้เร็วขึ้น จากเดิมระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 เป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 จำนวน 2 ครั้งต่อปี

ทั้งนี้เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรได้ทันหลังการเก็บเกี่ยว เนื่องจากมีเกษตรกรจำนวนมากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ถึงต้นเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบในหลักการให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนการปลูกข้าว ปี 2555/56 ซึ่งจะมีการเก็บเกี่ยวข้าวก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2555 เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 ได้ โดยถือเป็นการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/56 ไปแล้ว 1 ครั้ง จึงยังคงเหลือที่จะเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2555/56 ได้เพียงอีก 1 ครั้ง

สำหรับกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2555/56 ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดรับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2555/56 ทั้งปีพร้อมกันทุกภาคทั่วประเทศ โดยให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนและได้รับใบรับรองไม่เกิน 2 ครั้ง ต่อแปลง ต่อราย ต่อปี โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรไปกำหนดระยะเวลาการขึ้นทะเบียน ระยะเวลาการประชาคม และการออกใบรับรองหลังจากที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนให้เหมาะสม ทั้งนี้ มติที่ประชุมดังกล่าวจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติพิจารณาต่อไป.

ที่มา : ข่าวเกษตรเดลินิวส์