ผลไม้เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย ปัจจุบันมีเกษตรกรประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ ประมาณ 1.923 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกกว่า 8.176 ล้านไร่ ได้ผลผลิตรวม 7.468 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 90,361 ล้านบาท โดยมีผลไม้เศรษฐกิจหลัก 6 ชนิด ได้แก่ ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ มะม่วง และลองกอง ซึ่งแต่ละปีมีการส่งออกไม่น้อยกว่า 29,658 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การผลิตผลไม้ไทยยังมีปัญหาผลผลิตออกสู่ตลาดกระจุกตัวพร้อมกัน ทำให้ไม่สามารถหาตลาดรองรับได้ทัน ส่งผลให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำแทบทุกปี ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการแทรกแซงราคาจำนวนมาก
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวง เกษตรฯมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมประชุมหารือกับสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ สหกรณ์ ผู้รวบรวมสินค้า ผู้แทนตลาดกลางขนาดใหญ่ทั้งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตผลไม้ตกต่ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อพัฒนา การผลิตและตลาดผลไม้ให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นผู้นำการผลิตและตลาดผลไม้เมืองร้อนของโลกต่อไป
ทางด้าน นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2556 นี้ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้อนุมัติงบประมาณในภาพรวม จำนวนทั้งสิ้น 462,879,500 บาท เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาผลไม้หลายชนิด เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลิ้นจี่ และลำไย ซึ่งเป็นกลุ่มผลไม้เศรษฐกิจที่มักมีปัญหาราคาตกต่ำ โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมกับจังหวัดแหล่งผลิตจัดทำแผนเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาของจังหวัด (คพจ.) เพื่อสนับสนุนกลไกตลาดให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น ด้วยการบริหารจัดการผลผลิตช่วงที่ออกสู่ตลาดมากภายใต้ 4 มาตรการหลัก คือ 1. มาตรการพัฒนาคุณภาพผลผลิตซึ่งใช้เฉพาะการป้องปรามทุเรียนอ่อนเข้าสู่ตลาด 2. มาตรการเร่งรัดกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต ด้วยการสนับสนุนเงินจ่ายขาดแก่กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นค่าขนส่งและค่าการตลาดเหมาจ่ายจากแหล่งผลิตสู่ตลาดปลายทางอัตรา 2.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นค่าขนส่ง 1.50 บาท และค่าการตลาดเหมาจ่าย 1.00 บาท 3. มาตรการส่งเสริมการแปรรูปโดยจะสนับสนุน เงินชดเชย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ให้แก่สถาบันเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน
เพื่อกู้ยืมเงินจากแหล่งทุนต่าง ๆ เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทย และเอสเอ็มอี เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการแปรรูป และ 4. มาตรการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการบริโภค ด้วยการจัดงานรณรงค์การบริโภคผลไม้ร่วมกับจังหวัดปลายทาง พร้อมประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้แล้ว ทางกระทรวงเกษตรฯ ยังมีนโยบายเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งยังเน้นให้พัฒนากระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ และส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผลไม้ให้มีความหลากหลาย เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าด้วย
คาดว่าจะช่วยลดภาระภาครัฐในการแทรกแซงราคาและสามารถช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศได้ค่อนข้างมาก.
ที่มา : เดลินิวส์