ความเดิมจากบทความที่เขียนโดย คุณ สวนวสา ที่เราได้นำเสนอไปนั้น จะจบอยู่ที่หัวข้อของการเตรียมตัวและการวางแผนนะครับ ซึ่งก็พูดถึงข้อคิดต่างๆในการเตรียมอุปกรณ์ ระบบการให้น้ำ รวมทั้งการบำรุงรักษาอุปกรณ์นั้นๆให้คงอยู่กับเราไปนานๆ ซึ่งท่านสามารถอ่านได้จาก ที่นี้
แต่สิ่งที่คุณ สวนวสา ได้ให้ข้อคิดแก่พวกเรายังไม่จบแค่นั้นครับ ยังมีอีกหลายอย่างที่เราควรจะคิดถึงมันก่อนที่เราจะลงมือทำเกษตรอย่างเต็มตัว ว่าแล้วเรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
คนงาน
- ควรมีให้พร้อมค่ะ แต่อย่าคาดหวังอะไรมากเกินไป เพราะคนงานก็คือคนงานค่ะ ถ้าเขาขยันและฉลาดกว่านี้ เขาก็ไม่มาเป็นคนงานค่ะ การดูแลคนงานให้อยู่กันนานๆ บางทีก็ต้องหลับตาข้างหนึ่งค่ะ บางทีเขาอาจจะกินเหล้า เล่นหวย อู้งานบ้าง ตราบใดที่งานที่สั่งไว้เขาทำสำเร็จ ก็พอไปรอดค่ะ ที่สำคัญคือต้องไว้ใจได้ ของในสวนอย่าหาย (อาจมีเก็บไปกินบ้างก็ปล่อยๆ ไปค่ะ) แต่ประเภทยกมอเตอร์ไปขาย หรือให้เมียเปิดแผงที่ตลาดขายผลไม้ที่ขโมยมาจากในสวนเรา อันนี้ก็ต้องให้จรลีไปค่ะ ที่สวนวสาอนุญาตให้คนงานปลูกพืชผักที่อยากกินได้ตามสบาย หาเมล็ดผักมาให้เขาด้วย ผลไม้ในสวนหากอยากกินก็ให้เอาไปแต่พอกิน แต่ห้ามเอาไปขาย ให้จับปลาในร่องสวนมากินได้ แต่ห้ามจับไปขาย เว้นแต่คนงานจะลงทุนซื้อลูกปลามาเลี้ยงในกระชังเองก็ให้ทำได้แต่ต้องเลี้ยงนอกเวลางาน อยากเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ก็ให้เลี้ยงได้ในพื้นที่จำกัด เขาจะได้เก็บไข่กินได้เอง แต่ไม่อนุญาตให้ทำเพื่อค้าขาย ไม่งั้นวันๆ เอาแต่บำรุงรักษาพืชผักเป็ดไก่ของตัวเองจนไม่ได้ทำงานของเรา
- ค่าจ้างคนงาน ส่วนมากเราใช้จ้างเป็นรายวันค่ะ แต่มีหัวหน้าคนงานที่เราจ่ายเป็นรายเดือน ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 120-180 บาทค่ะ คนต่างด้าวจะได้ที่ราวๆ 120-150 บาท คนไทยได้ที่ 150-180 บาทค่ะ หากเกิน 5 โมงเย็นก็จะมีค่าล่วงเวลาให้ (ช่วงที่เร่งเก็บผลไม้และคัดแยกน่ะค่ะ) บางทีคนซื้อผลไม้เราเขาก็จะจ่ายค่าแรงให้คนงานเราในวันที่เก็บผลไม้ให้เขา เราก็ประหยัดไปได้ค่ะ เช่น การซื้อมะม่วงแบบเหมาสวน พ่อค้าจะมาพร้อมคนงานคัดแยก แล้วเขาจ้างเราเก็บผลไม้ให้ โดยให้ค่าแรงรายวันกับคนงานเราค่ะ ค่าจ้างนี่เราอาจปรับขึ้นให้ปีละหน ปลายปีอาจมีเงินแถมให้นิดหน่อยได้ค่ะ
- วันหยุด คนงานไทยในต่างจังหวัดจะขอมีวันหยุดตามวันสำคัญทางศาสนาค่ะ เช่น วันเข้าพรรษา วันทำบุญทอดกฐิน วันสงกรานต์ วันแต่งงานญาติ วันงานศพญาติ ฯลฯ เรื่องพวกนี้เราต้องปล่อยวางค่ะ เกษตรกร part-time หลายคนอาจไม่ค่อยพอใจเพราะตรงกับวันหยุดยาวที่เราจะเข้าสวนได้พอดีเช่นกัน ก็ต้องทำใจค่ะ นอกจากนี้ วันหวยออก เป็นวันที่คนงานไม่ค่อยมีกะจิตกะใจทำงานกันเท่าไหร่ ดังนั้น พยายามอย่าคาดหวังมากค่ะ คุยกันให้เข้าใจตั้งแต่เริ่มงาน จะทำให้ความรู้สึกดีทั้งสองฝ่ายค่ะ
การหาความรู้เพิ่มเติม
- เป็นเกษตรกรต้องหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอค่ะ ซึ่งแหล่งความรู้ที่ง่ายที่สุด เร็วที่สุด และไม่เสียเงินคือการหาตามเวบไซต์ แค่เข้าไปที่ google แล้วคีย์คำที่ต้องการทราบ เช่นคำว่า โรคมะนาว หรือ มะละกอใบหงิก ก็จะปรากฏรายการเวบต่างๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับคำที่ท่านคีย์เข้าไปมาให้ท่านได้ลองเข้าไปอ่าน หากไม่เจอข้อมูลที่ต้องการค่อยมาตั้งกระทู้สอบถามเพื่อนๆเกษตรกรท่านอื่นเพิ่มเติมได้ค่ะ อย่างไรก็ตามข้อมูลต่างๆ บนเวบอาจจะมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปบ้างแล้วแต่เวบไซต์ที่เปิดเจอ เช่น เจอเวบขายปุ๋ยข้อมูลที่ออกมาอาจชี้นำไปสู่การซื้อปุ๋ยยาของเขา ดังนั้น อยากให้เกษตรกรเชื่อข้อมูลในเวบไซต์ของทางการเป็นหลัก เช่น เวบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (http://www.ku.ac.th/) เวบของกรมส่งเสริมการเกษตร (http://www.doae.go.th/) เป็นต้น เวบเหล่านี้มีข้อมูลที่น่าสนใจมากมายค่ะ หลายเวบมีรูปภาพประกอบด้วย อยากให้เกษตรกรได้ลองขวนขวายหาความรู้ด้วยตัวเองจากหลายๆแหล่งข้อมูลค่ะ จะได้คิดวิเคราะห์ได้รอบทิศ ดีกว่าการมาตั้งกระทู้ถามเพียงอย่างเดียว ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าผู้ตอบแต่ละคนมีความรู้ในด้านนั้นๆ จริงหรือไม่ บางเรื่องแม้ผู้ตอบมีความประสงค์ดี แต่ตอบเอาตามที่นึก (เอาเอง) ว่ามันน่าจะเป็นเช่นนั้นโดยไม่มีประสบการณ์หรือหลักวิชาการสนับสนุน แล้วเกษตรกรไปทำตาม ผู้ที่เสียหายคือเกษตรกรเองค่ะ
- นอกจากเวบไซต์แล้ว ก็มีหนังสือและวารสารเกษตรต่างๆ ที่สามารถหาอ่านเพิ่มความรู้ได้ค่ะ เช่น วารสารเคหเกษตร วารสารเมืองไม้ผล วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เป็นต้น สวนวสาได้มีโอกาสไปเยือนสวนเกษตรต่างๆ เพื่อเสาะหาพันธุ์พืชที่ต้องการก็ใช้ดูเอาตามวารสารพวกนี้ค่ะ บางทีเขาก็มีการจัดอบรมให้ฟรีๆ มีวิทยากรที่มีความรู้มาพูด มีเพื่อเกษตรกรที่มีประสบการณ์มาแบ่งปันเทคนิค เราก็จะได้ประโยชน์ค่ะ แต่ไม่ใช่ว่าวารสารทุกเล่มจะจัดงานได้ดี สวนวสาเคยไปร่วมงานหนึ่งเป็นการอบรมครึ่งวัน แต่กว่าการกล่าวเปิดงานของบุคคลสำคัญต่างๆที่เชิญมาจะหมดก็ปาเข้าไปเกือน 10 โมงแล้ว แล้วยังพักเบรคยาวๆ ให้คนที่มาอบรมไปซื้อของที่สปอนเซอร์ต่างๆ มาออกร้านขาย ในที่สุดได้ฟังคนบรรยาย (แบบรีบๆ ให้จบ) แค่ไม่ถึงชั่วโมง เสียเวลาไปเหมือนกันค่ะ
- หนังสือเกี่ยวกับคู่มือการเกษตรต่างๆ รวมถึงผลงานวิจัยบางงานที่มีประโยชน์ มีจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ศูนย์หนังสือจุฬา ที่ร้านหนังสือแพร่พิทยา และตามงานเกษตรแฟร์ นอกจากนี้ยังมีแจกให้ฟรีโดยกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัด อำเภอ และหน่วยงานราชการบางหน่วยงาน ลองติดต่อขอไปดูได้ค่ะ
ความต้องการ กับ ความเป็นจริง
ผู้ที่อยากเป็นเกษตรกรหลายท่านที่ทำงานประจำอยู่ ควรพิจารณาบริหารเวลา ครอบครัว และทุนทรัพย์ให้รอบคอบก่อนลงมือค่ะ บางทีเรามาอ่านๆ ในเวบต่างๆ เห็นคนอื่นเขาซื้อที่ดินกัน ลงมือทำกัน ก็เกิดแรงบันดาลใจอยากทำบ้าง แต่นั่นอาจเป็นความต้องการของคุณคนเดียวหรือเปล่า ลองดูปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้ด้วยค่ะ
- เวลา – คุณทำงานประจำในวันเสาร์อาทิตย์หรือเปล่า เพราะการเป็นเกษตรกร part-time นั้นอย่างน้อยต้องมีเวลาเสาร์-อาทิตย์ที่จะไปดูแลพืชผลที่ปลูกได้ หรือหากทำงานส่วนตัว ก็ต้องถามว่าสามารถจัดเวลาได้หรือเปล่าที่จะหาเวลาว่างแวะเวียนไปดูแลการเติบโตของพืชผล และแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หลายๆ คนไฟแรงแต่ตอนแรกๆ พอสักห้าหกเดือนผ่านไป ก็ทิ้งระยะเสียแล้ว จากทุกอาทิตย์ เป็นเดือนละหน เป็นสองเดือนหน ในที่สุดเหลือปีละหน อย่างนี้สิ่งที่ลงทุนไปก็จะเสียเปล่าค่ะ การทำเกษตรนั้นคนทำต้องมีความรับผิดชอบ (discipline) ที่ต่อเนื่องค่ะ ยิ่งถ้าที่ดินอยู่ไกลจากที่บ้านหรือที่ทำงานมากๆ อย่างที่เขียนไว้แล้วด้านบน ว่าส่วนใหญ่เจอค่าน้ำมันและเวลาขับรถไปก็จะท้อใจในที่สุด
- ครอบครัว – เป็นสิ่งสำคัญค่ะ การซื้อที่ดินทำเกษตรนี่ครอบครัวทางบ้านต้องสนับสนุนนะคะ เพราะบางครั้งเป็นความต้องการเฉพาะของคุณพ่อบ้านอย่างเดียว แต่ครอบครัวทางบ้านไม่สนับสนุน เพราะเคยได้ยินคุณแม่บ้านบ่นว่าเสาร์อาทิตย์แทนที่จะได้พาลูกไปเรียนพิเศษ หรือได้ไปท่องเที่ยวกันตามแหล่งท่องเที่ยว ก็ต้องไปใช้ชีวิตกลางแดดร้อนๆ ขุดดิน ปลูกพืช เรื่องแบบนี้คุณแม่บ้านบางคน และเด็กๆ ไม่เข้าใจค่ะ อยากให้ทำความเข้าใจกันในบ้านให้เรียบร้อยก่อน เพราะไม่งั้นอาจมีปัญหาภายในครอบครัวได้ค่ะ
- ทุน – สะสมมาพอไหม เวลาคำนวณเงินลงทุน คิดให้รอบคอบด้วยค่ะ นอกจากค่าที่ดิน ค่าคนงาน ค่ากิ่งพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าระบบน้ำ ค่าอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ แล้ว คิดได้เท่าไหร่ ให้คูณ 3 ไว้ก่อนเลย เพราะจริงๆ มันจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่คุณไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีกมากๆๆๆๆๆ และถ้าเงินสะสมของคุณไม่มากพอ นำไปสู่การเป็นหนี้สินเพื่อนำมาลงทุน มันจะไม่ยั่งยืนน่ะค่ะ
จากปัจจัยเรื่องเวลา ครอบครัว และทุนที่พูดถึงด้านบน ก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือกชนิดพืชเพื่อทำสวนเกษตรเบื้องต้น ดังนี้ค่ะ
- สวนป่า – ถ้าที่ดินอยู่ไกล เวลามีน้อย ภาระครอบครัวมีมาก ทุนมีกลางๆ ในช่วง 5-10 ปีนี้ แต่อยากเริ่มแล้ว ก็อยากให้พิจารณาเริ่มที่การทำสวนป่าไปก่อน คือ ปลูกพืชที่ตัดไม้ขายในภายหลัง เช่น สน ยูคา สัก หรือไม้ป่าอื่นๆ เพราะจะหนักแค่ช่วงปรับปรุงดินแรกๆ พอต้นกล้าตั้งหลักได้แล้ว ก็ผ่อนภาระการสิ่งไปดูแลบ่อยๆ ไป 5 – 10 ปี เช่นไปเดือนละหน หรือ สองเดือนหน ก็ได้ แต่ต้องไปนะคะ ไม่งั้นเพื่อนบ้านอาจจะมาบุกรุกเขาไปปลูกอะไรต่อมิอะไรเป็นการบันเทิงไป เราเจอมาแล้วกับที่ดินของเราที่อยู่ไกลๆ ไม่ค่อยได้ไปสามสี่เดือน มีสวนพริก สวนถั่ว เกิดขึ้นมาในที่ดินเราเฉยเลย ดีไม่ดีต้นกล้าที่เราปลูกไว้อาจเจอพืชอื่นเบียดเบียนตายไปก็ได้ หรือไม่ก็เจอมาแล้วค่ะ ที่ชาวบ้านเข้าไปจุดคบไฟหาหนู แล้วทำไฟไหม้สวนเราไปครึ่งสวน พวกสวนป่านี่ช่วงท้ายๆ ต้องเฝ้ากันดีๆ ด้วยเพราะไม่งั้นชาวบ้านแอบมาตัดไม้เราไปขาย ก็มีค่ะ
- พืชอาหาร – ต้องการเวลาอย่างมากค่ะ อย่างที่เขียนมาแล้วว่าผู้ปลูกต้องมีความสม่ำเสมอในการไปดูแล เพราะไม่งั้นเผลอแป๊บเดียวโรคหรือแมลงลง ต้นไม้อาจจะตายไปทั้งสวนก็ได้ค่ะ ฝากคนงานเขาก็คงไม่ได้ใส่ใจมาก เพราะไม่ใช่สวนของเขาน่ะค่ะ พืชอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ พืชตระกูลธัญพืช หรือผักต่างๆ ต้องดูแลใกล้ชิดค่ะ นอกจากนี้ช่วงเก็บผลผลิตก็ต้องคอยหาตลาดให้ดี วางแผนการเก็บให้ดี การขนส่ง การเก็บรักษาอีก หากเกษตรกรยังไม่พร้อมก็แบ่งที่ดินปลูกเฉพาะที่พอกินเองไปก่อน ส่วนที่ดินที่เหลือก็ปลูกไม้ยืนต้นพวกสวนป่าไปก่อนค่ะ
- พืชพลังงาน – พลังงานกำลังขาดแคลน คนเลยเห่อปลูกพืชพลังงานกันใหญ่ ตั้งแต่พวกมัน อ้อย ปาล์ม สบู่ดำ ฯลฯ ราคาก็ขึ้นลงตามที่เราเห็นๆ ค่ะ พืชน้ำมันนี่มันแทนที่พื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารนะคะ เวลานี้ทั่วโลกกำลังมีประเด็นเรื่องอาหารขาดแคลน เพราะหลายประเทศที่เคยทำเกษตรกรรมอาหาร เช่น มาเลย์ อินโด บราซิล อาร์เจนติน่า หันไปปลูกพืชพลังงานและยางพารากันใหญ่ ในระยะยาวแล้วราคาพืชอาหารจะแซงพืชพลังงานค่ะ สวนวสาจึงอยากเชียร์ให้ทุกคนกัดฟันปลูกพืชอาหารกันไปก่อนค่ะ และจะให้ข้อคิดสำหรับคนที่อยากปลูกพืชน้ำมันว่าควรอยู่ใกล้แหล่งรับซื้อนะคะ เช่นปลูกปาล์มควรอยู่ใกล้ๆ โรงกลั่นนะคะ หากมีหลายๆ โรงในพื้นที่ยิ่งดีค่ะ ไม่งั้นเก็บผลผลิตแล้วส่งไม่ได้ก็จะเสียหายมากค่ะ เราจะเห็นว่าบางทีพอราคาขึ้นและน้ำมันที่กลั่นแล้วยังขายไม่ได้ บางโรงกลั่นเขาปิดไม่รับซื้อก็มีค่ะ หากมีตัวเลือกก็จะดีค่ะ เพราะพืชน้ำมันนี่เอาไปวางขายตามตลาดก็ไม่ได้ กินเองก็ไม่ได้ ต้องขายเข้าผู้แปรรูปอย่างเดียวเลย