Categories
บทความ

ข้อคิดสำหรับผู้ที่อยากเป็นเกษตรกร ตอนที่ 1

บทความทางทีมงานของเราไปเจอเข้าโดยบังเอิญ  ซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อหลายท่านที่มีอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับท่านที่ต้องการเริ่มต้นเป็นเกษตรกรเต็มตัว

บทความนี้เขียนโดย คุณ สวนวสา จากเว็บ http://www.kasetporpeang.com/ โดยบทความต้นฉบับผู้เขียนแบ่งเนื้อหาไว้ค่อนข้างดีมาก แต่เนืองจากเนื้อหามีจำนวนมาก ทางเราจึงขอแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกนี้จะมีบทนำ เรื่องขอทำเลที่ดิน การเลือกพืชที่จะปลูก การทำตลาด การเตียมตัวและวางแผน  ซึ่งสมควรอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากออกจากที่ทำงานได้ศึกษาพิจารณา ก่อนการตัดสินใจ ส่วนบทความที่เหลือทางเราจะนำมาลงต่อเร็วๆนี้ครับ

–  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –  –

เรียน  ว่าที่เกษตรกร เกษตรกรมือใหม่เอี่ยม และเกษตรกร part-time ทุกท่าน

จากที่เราได้คุยกับว่าที่เกษตรกรและเกษตรกรมือใหม่หลายท่านที่มาติดต่อซื้อเมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ และท่อน้ำหยดจากสวนวสา ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เลยต้องขออนุญาตเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อให้ว่าที่เกษตรกรและเกษตรกรมือใหม่ไฟแรงหลายๆท่านลองพิจารณาเป็นข้อคิดก่อนจะลงมือทำอะไรไป เพราะการลงทุนในสาขาการเกษตรนั้น ไม่ว่าจะเพื่อหวังผลกำไร หรือแค่หวังเพื่อใช้เวลาว่างทำงานอดิเรกปลูกต้นไม้ ทุกอย่างที่ลงไปก็เป็นเงินทองที่เราเก็บหอมรอมริบมาทั้งนั้น  หากลงทุนไปโดยขาดการไตร่ตรองล่วงหน้า หรือขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ เมื่อเกิดผลเสียหาย ผลขาดทุน ความยุ่งยากที่ตามมามักทำให้เกษตรกรมือใหม่หลายคนท้อแท้ และเลิกไปในที่สุด  ซึ่งทางสวนวสาไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เราไม่อยากให้อาชีพเกษตรกรหายไปจากประเทศไทย ตรงกันข้ามเราอยากให้มีเกษตรกรรุ่นใหม่เกิดขึ้นมามากๆ คนที่มีการวางแผน มีการควบคุมผลผลิตที่มีคุณภาพ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพของโลก

ว่าด้วยเรื่องของที่ดิน

การจะเริ่มทำการเกษตรได้นั้นเราควรมีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่ก่อนจะลงมือซื้อที่ดินผืนใด ขออนุญาตให้ข้อคิดเกี่ยวกับปัจจัยที่สำคัญก่อนซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร ดังนี้

  1. ในที่ดินต้องมีแหล่งน้ำหรือติดกับแหล่งน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งปี เพราะการซื้อที่ดินที่ไม่มีน้ำ ก็เท่ากับไม่มีประโยชน์ในเชิงเกษตร แหล่งน้ำที่ว่านี้อาจจะเป็นคลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ คลองธรรมชาติ แม่น้ำ ฯลฯ ถ้าเป็นที่ผืนใหญ่ไม่ควรเป็นน้ำบาดาล เพราะอาจมีปริมาณไม่พอเพียงและอาจจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการตะกอนในภายหลัง
  2. ที่ดินควรใกล้กับถนน และไม่ไกลจากบ้านที่อยู่ประจำของคุณมากนัก การไปมาทำได้ง่าย เมื่อการเดินทางสะดวก ก็ทำให้เรารู้สึกอยากไปเยือนบ่อยๆ โดยเฉพาะเกษตรกร part-time ที่ต้องทำงานในวันธรรมดาและไปทำสวนได้เฉพาะวันหยุด หากคุณต้องขับรถ 500 กม. เพื่อไปสวนในวันเสาร์ และขับกลับอีก 500 กม. ในวันอาทิตย์ คุณจะเหนื่อยและท้อไปในที่สุด ระยะทางที่เหมาะสมน่าจะไม่เกิน 200 กม. จากบ้านคุณ อย่างไรก็ตามปัจจัยเรื่องระยะทางนี้ขึ้นกับทุนและความชอบส่วนบุคคล นอกจากนี้ราคาน้ำมันก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย คำนวณค่าน้ำมันคร่าวๆ ว่าระยะทาง 200 กม. รถคุณกินน้ำมันเฉลี่ย 8 กิโลลิตร น้ำมันลิตรละ 30 บาท ไป-กลับ จะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าน้ำมัน 1,500 บาทต่อเที่ยว เดือนหนึ่งไป 4 ครั้งก็ประมาณ 6,000 บาท ปีละ 72,000 บาท เทียบกับราคาที่ดินที่อาจจะแพงกว่าแต่ใกล้กว่า อย่างไหนคุ้มกว่ากัน อันนี้ควรคำนวณให้รอบคอบค่ะ
  3. ที่ดินควรใกล้ตลาดหรือชุมชน หรือผู้ซื้อรายใหญ่ เพื่อที่จะสามารถขนส่งผลผลิตเพื่อจำหน่ายได้โดยง่าย (หากคิดจะปลูกเพื่อจำหน่าย) เช่น อยากปลูกมะม่วงส่งออกแต่ผู้ปลูกอยู่ภาคใต้ ส่วนผู้ส่งออกอยู่ภาคเหนือและภาคกลาง อย่างนี้ ถ้าปลูกไม่มากพอก็จะไม่มีผู้ซื้อวิ่งไปซื้อแน่ๆ ค่าน้ำมันทุกวันนี้แพงมากๆ ค่ะ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผู้ซื้อมักจะถามก่อนว่าปลูกกี่ไร่ กี่ต้น ผลผลิตกี่ตัน (ถ้าไม่ถึง 4-5 ตัน ส่วนมากรายใหญ่เขาไม่วิ่งมาค่ะ)
  4. ควรมีเพื่อนบ้านและสังคมที่ดี ก่อนซื้อที่ดินควรลองไปสำรวจดูว่าเพื่อนบ้านมีอัธยาศัยเป็นอย่างไร ที่ดินบางผืนราคาถูกเพราะเพื่อนบ้านขี้ขโมย ผลผลิตอะไรออกมาหายหมด ติดตั้งปั๊มน้ำก็หาย บางทีเผลออาทิตย์เดียวบ้านทั้งหลังรื้อเอาไปขายก็มี ลองไปถามสถานีตำรวจในพื้นที่ดูว่าคดีลักขโมยมีแยะไหม ใครเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และทัศนคติเขาเป็นอย่างไร
  5. ที่ดินควรมีต้นไม้ขึ้นอยู่ในที่บ้าง เพื่อแสดงว่าดินที่นี่ปลูกต้นไม้ได้ บางคนไปซื้อที่ดินที่เตียนโล่งแม้แต่หญ้าก็ไม่ขึ้น แล้วมาดีใจว่าไม่ต้องถางหญ้าปรับที่ดิน ซึ่งแท้ที่จริงเป็นดินเค็มที่เพาะปลูกอะไรไม่ได้  หากเป็นไปได้ลองสังเกตด้วยว่าต้นไม้ที่ขึ้นในที่ดินนั้นเป็นต้นอะไรเพื่อจะได้ทราบว่าที่ดินผืนนั้นเพาะปลูกผลไม้ชนิดใดได้ดีที่สุด
  6. ที่ดินทำสวนเกษตรส่วนใหญ่ควรเป็นพื้นราบ เพราะหากเป็นที่ลาดชันเวลารดน้ำต้นไม้ น้ำจะไหลลงเบื้องล่างหมด หากต้องทำขั้นบันไดก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าที่ดินผืนราบ แต่หากจะปลูกไม้ยืนต้นพวกไม้ป่า ก็เป็นที่เนินเขาได้ค่ะ ทั้งนี้ขึ้นกับพืชที่เลือกจะปลูก
  7. ไม่ควรเป็นที่น้ำท่วมขัง ที่ดินบางผืนในช่วงฤดูฝนจะตรงกับแนวน้ำท่วมพอดี อย่างนี้ปลูกพืชอะไรไม่ทันเก็บเกี่ยวก็ตายหมด แล้วอย่ามาดีใจว่าไม่ปลูกพืชก็ได้ไหนๆน้ำมากเลี้ยงปลาเสียเลย ขอโทษค่ะ พอน้ำท่วมขึ้นมาปลาที่เลี้ยงก็หายหมดเหมือนกัน
  8. ให้สำรวจหน้าดินของที่ดินที่ซื้อด้วยค่ะ พอดีมีเพื่อนเกษตรกรโทรมาปรึกษา มีที่ดินแต่หน้าดินที่ปลูกพืชได้มีเพียง 1-2 เมตรลึกลงไปกว่านั้นกลายเป็นดินผสมหินแบบแข็งเลย รากพืชชอนไชลงไปไม่ได้ อย่างนี้หากก่อนซื้อเตรียมแผนไว้ก็คงต้องปรับแผนเพื่อปลูกพืชที่มีระบบรากไม่ลึกมากค่ะ
  9. เวลาซื้อที่ดิน อย่ามองแค่ค่าที่ดินอย่างเดียว ให้คำนึงถึงว่าจะต้องมีค่าปรับปรุงที่ดินอีกเท่าไหร่ด้วย เช่น หากที่ดินมีต้นไม้รกเรื้อ หรือมีการขุดร่อง ขุดแนวคันเอาไว้ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเกษตรกร ต้องจ้างรถแม้คโครปรับปรุงใหม่อีกเท่าไหร่  ที่ดินมีไฟฟ้า มีถนนถึงหรือยัง หากซื้อที่ดินร่วมกับคนอื่นก็ต้องจ่ายค่าทำถนนเข้าไปยังที่ดินอีกเท่าไหร่ ค่าเดินสายไฟเข้าไปยังที่ดิน ค่าขุดคลองส่งน้ำหรือระบบชลประทาน แล้วยังค่าใช้จ่ายในการแบ่งแยกโฉนดอีก เรื่องพวกนี้รวมๆ แล้วอาจทำให้ที่ดินไร่ละ 5 หมื่นกลายเป็นไร่ละ 3 แสนก็เป็นได้ค่ะ
  10. การซื้อที่ดินร่วมกับคนอื่น ควรตกลงกันให้แน่ชัดตั้งแต่แรกว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ จะร่วมกันรับผิดชอบอย่างไร ค่าโอนที่ดิน ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ นอกจากนี้ถนนที่จะตัดเข้าไปยังที่ดินของแต่ละคนจะตกลงค่าใช้จ่ายและกรรมสิทธิ์กันอย่างไร บางคนเห็นว่าที่ดินตนเองอยู่ด้านหน้าก็ไม่ต้องการร่วมออกค่าถนนกับคนที่ซื้อที่ดินที่ลึกไปด้านหลัง เลยทำให้มีปัญหากันได้ แล้วยังเรื่องน้ำ หากคนที่อยู่ต้นน้ำเก็บกักน้ำ คนที่อยู่ปลายน้ำจะทำอย่างไร ควรมีการทำสัญญากันไว้ให้ชัดเจน และเป็นภาระผูกพันกับที่ดิน เพราะหากวันนี้แม้เชื่อใจกัน ไม่มีปัญหากันก็จริง แต่พอผ่านไปหากคนหนึ่งขายที่ไปให้บุคคลอื่น ปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นได้ค่ะ

การเลือกพืชที่จะเพาะปลูก

  1. ก่อนจะปลูกอะไร กรุณาสำรวจสภาพดินและน้ำก่อนว่าเหมาะกับพืชในใจคุณหรือเปล่า อย่าบุ่มบ่ามลงมือปลูกตามกระแส หรือตามใจชอบ ตัวอย่างเช่นที่ดินสวนวสาเป็นดินเปรี้ยวเพาะปลูกพืชตระกูลส้ม-มะนาวได้ดี มะม่วง มะละกอได้ แต่ปลูกทุเรียน ลำไย มังคุดแล้วไม่โต (ลองแล้ว) ถึงกระนั้นก็ตามเวลาเรามี “เกษตรเกิน” (ผู้ที่แสดงตนว่ารู้มากกว่าเกษตรกร) มาเยี่ยมที่สวนก็มักจะแนะนำให้เราลองปลูกมังคุด ปลูกทุเรียนอยู่เสมอๆ เพราะส่งนอกได้ราคาดี คนแนะนำส่วนใหญ่ก็คิดแค่นั้น แต่เกษตรกรที่แท้จริงที่เป็นเจ้าของที่ดินควรศึกษาสภาพดินและน้ำก่อนลงมือปลูกอะไร เพื่อจะได้ประหยัดเวลาและทุนที่ถมลงไป
  2. ควรเลือกพืชที่จะปลูกมากกว่า 1 ชนิดเพื่อบริหารความเสี่ยง เผื่อชนิดหนึ่งราคาตกหรือขายไม่ออก ชนิดอื่นจะได้ช่วยเฉลี่ยรายได้ แต่ไม่ควรหลายชนิดเกินไปจนปริมาณไม่คุ้มค่าขนส่ง เช่น มีที่ดิน 1 ไร่ แต่อยากปลูกมะม่วง มังคุด ลำไย มะนาว พริกขี้หนู เพื่อส่งออก แบบนี้แนะนำว่าให้ลืมเรื่องส่งออกไปได้เลย ให้ปลูกแบบพอเพียง คือเก็บทานเอง หรือส่งตลาดแถวสวนจะดีกว่าค่ะ
  3. พืชแต่ละชนิดมีความต้องการน้ำไม่เท่ากัน หากจะปลูกผสมผสาน ควรเลือกพืชที่ต้องการน้ำ ปุ๋ยและยาคล้ายๆกันปลูกไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ปริมาณแสงก็เป็นสิ่งสำคัญ หากพืชชนิดหนึ่งต้องการแสงมาก ก็อย่าปลูกไว้ใกล้ๆกับพืชที่ให้ร่มเงา เช่น อย่าปลูกมะละกอไว้ใกล้กอไผ่ เพราะในที่สุดร่มเงาของไผ่จะบังมะละกอทำให้ไม่สามารถเติบโตได้ และเกิดโรคระบาดในที่สุด หรือ หากจะปลูกมะนาวทำนอกฤดู ก็ไม่ควรปลูกใกล้กับพืชที่ต้องการน้ำ เพราะพอเรางดน้ำเพื่อให้มะนาวออกดอก ต้นไม้ข้างๆ ก็จะตายไปด้วย ทำนองนี้
  4. ตามทฤษฎีพอเพียง ควรปลูกพืชชนิดให้ประโยชน์เกื้อหนุนกับการเกษตรของท่านด้วย เช่น หากปลูกส้มหรือมะนาว ก็ควรเผื่อพื้นที่สำหรับปลูกไผ่ไว้ด้วย เพราะเวลาค้ำต้นมะนาวหรือส้มต้องใช้ไม้ไผ่ แทนที่จะไปซื้อ ก็ปลูกเองประหยัดกว่า นอกจากนี้หากใครคิดทำเกษตรอินทรีย์ ก็ปลูกพวกสะเดา หนอนตายหยาก หรือสมุนไพรอื่นๆไว้ด้วย จะได้เอาไว้ทำเกษตรอินทรีย์ได้ง่ายค่ะ
  5. นอกจากนี้ ให้คิดในใจเสมอว่า พื้นที่แต่ละพื้นที่มีลักษณะภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน อย่าคิดว่าการลอกเลียนแบบสวนที่ประสบความสำเร็จแล้วคุณจะประสบความสำเร็จด้วย การเกษตรไม่ใช่บะหมี่สำเร็จรูปที่ต้มกินที่ไหนก็รสชาติเดิม มักจะมีคนถามว่าหากปลูกมะนาวเหมือนสวนวสาต้องใส่ปุ๋ยเดือนไหน ฉีดยาเดือนไหน ฉีดอะไร ซึ่งขอเรียนว่า สวนวสาอยู่นครนายก สภาพภูมิอากาศและดินจะต่างจากสวนที่อยู่ราชบุรี พิษณุโลก หรือ เชียงใหม่ ดังนั้นเวลาที่ฉีดยา ใส่ปุ๋ย เก็บผลผลิตก็จะต่างกัน  ช่วงเวลาเดียวกันที่สวนวสาเจอโรคราน้ำค้างแต่สวนอื่นอาจเจอเพลี้ยแป้ง อย่างนี้ยาที่ใช้ก็ต่างกัน ต้องหมั่นสังเกตอาการของพืชแล้วค่อยคิดเรื่องการบำรุงรักษาพืชค่ะ
  6. เกษตรกรมือใหม่หลายๆ คนมักจะคิดว่า “พืช” ก็เหมือนวัตถุ สิ่งของ ที่ซื้อมาเก็บเอาไว้ก็ไม่เสื่อมสลาย ไม่เปลี่ยนรูป เหมือนเสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ ดังนั้นพออ่านประกาศโฆษณาขายเมล็ดพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์ชนิดโน้นชนิดนี้ ที่กำลังเป็นสมัยนิยมกัน ก็เกิดความอยากครอบครองเป็นเจ้าของ เลยสั่งมาเก็บไว้ก่อน ยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ปลูก บางคนยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ซื้อที่ดินเลยด้วยซ้ำ!!! ทีนี้กว่าจะซื้อที่ กว่าจะปรับดิน ทำร่องน้ำ ทำระบบน้ำ เวลาก็ผ่านไปปีเศษ แล้วค่อยนำเมล็ดมาเพาะ แล้วก็พบว่า อ้าว.. เมล็ดที่ซื้อมาทำไมมันไม่งอก โดนหลอกขายมาแน่ๆเลย หรือไม่ก็เป็นกรณีกิ่งพันธุ์ที่ซื้อมา อุตส่าห์เอาลงกระถางไว้แล้วนะ บำรุงจนต้นโตเบ้อเริ่ม เอาลงดินมันต้องเก็บผลได้ในไม่กี่เดือนแน่นอน ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นนะคะ อัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็ตาม ยิ่งเก็บนานมันยิ่งมีอัตราการงอกต่ำ บางพันธุ์ดีหน่อยคืองอกแต่งอกช้า บางพันธุ์พอความชื้นในเมล็ดมันหมดเมล็ดก็แห้งตายไปและไม่งอกค่ะ ส่วนต้นไม้ ถ้าเรานำลงกระถางไว้นานๆ รากมันจะขดอยู่ในกระถาง เวลาเอาไปลงดินมันเลยโตช้า เพราะแทนที่รากจะได้ชอนไชไปหาอาหารไกลๆ ก็กลับจับวนกันเป็นก้อนที่ก้นกระถางค่ะ
  7. การเลือกพืชที่จะปลูก นอกจากความแท้ของสายพันธุ์แล้ว ควรพิจารณาวางแผนการปลูกให้ผลผลิตออกมาเป็นพันธุ์แท้ด้วยค่ะ จะได้ไม่มีปัญหาด้านการตลาด และการขยายพันธุ์ต่อไปในอนาคต ขออนุญาตยกตัวอย่างมะนาวไร้เมล็ด (ซึ่งการขยายพันธุ์ทำโดยการตอนกิ่ง) หากปลูกรวมกันในระยะใกล้กันกับมะนาวมีเมล็ด เช่น มะนาวแป้น ก็มีความเสี่ยงว่าผลที่ออกมาอาจจะมีเมล็ดเนื่องจากเกสรอาจจะผสมกันได้ ทำให้มีปัญหาด้านการตลาดต่อไป เช่นเดียวกับมะละกอ หากปลูกหลายสายพันธุ์ในพื้นที่เดียวกัน ก็อาจทำให้ผลที่ออกมามีรสชาติและกลิ่นแตกต่างไป ทำให้มีปัญหาด้านการตลาดค่ะ การปลูกพืชแนวผสมผสาน ไม่จำเป็นต้องปลูกพืชตระกูลเดียวกันในพื้นที่เดียวกันค่ะ

การทำตลาด

  1. การจะปลูกอะไร (เพื่อการค้า) ให้คิดว่าจะขายได้ที่ไหนก่อน ถ้าปลูกพืชแปลกมากและอยู่ไกลจากตลาด จะทำให้ขายยากค่ะ
  2. อย่าเห่อปลูกตามกระแส เกษตรกรที่ดี ควรประเมินสภาพตลาดให้ดีด้วย และอย่าดูเหตุการณ์เพียงจุดเดียว ช่วงปีที่แล้วมะนาวลูกละ 10 บาท เลยเกิดกระแสปลูกมะนาวกันใหญ่ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น 5 ปีมีคนฟันมะนาวทิ้งไปทั้งจังหวัดเพราะราคาร้อยละ 20 บาท ไม่คุ้มค่าปุ๋ยค่ายา อยากให้เกษตรกรมองไปข้างหน้ายาวๆ ก่อนตัดสินใจปลูกอะไร ให้เน้นพืชที่ยังไงก็ขายได้ในพื้นที่ตนเองก่อน เช่น มีคนส่งเสริมปลูกต้นตะกู กฤษณา ฯลฯ ก่อนปลูกให้หาข้อมูลว่าผู้รับซื้อมีกี่ราย ขายยังไง ขายที่ไหน หากผู้รับซื้อรายที่มาส่งเสริมไม่ซื้อ จะเอาต้นดังกล่าวไปทำอะไร สูตรของสวนวสาคือ อย่างน้อยเราเองก็ต้องกินหรือใช้ได้เองด้วย
  3.  หากสนใจจะปลูกเพื่อการส่งออก ควรมีพื้นที่เพาะปลูกในจำนวนมากเกินกว่า 10 ไร่ หากมีน้อยกว่า 10 ไร่ ปลูกขายในประเทศได้ แต่ปลูกส่งออกไม่คุ้มการลงทุนค่ะ (เว้นแต่ในพื้นที่มีการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดเดียวกันได้จำนวนมากพอที่ผู้ส่งออกจะสนใจ) มีระบบน้ำที่สม่ำเสมอ ที่ดินควรอยู่ไม่ไกลจากแหล่งส่งออก เกษตรกรต้องจดมาตรฐาน GAP ซึ่งมีกฎค่อนข้างมาก ต้องมีโรงเก็บปุ๋ย ยา แยกกัน มีโรงคัดแยกพืชผลที่แยกต่างหาก มีพื้นปูนไม่สัมผัสดิน ฯลฯ พวกนี้เป็นการลงทุนทั้งนั้นค่ะ ดังนั้นหากพื้นที่ใหญ่หน่อยจะคุ้มกว่าพื้นที่ขนาดเล็กค่ะ อย่างไรก็ตาม ขึ้นกับชนิดของพืชด้วยค่ะ มีสมาชิกบางท่านสามารถปลูกพริกหหรือผักส่งออกได้ในพื้นที่ 2 ไร่ก็มีค่ะ
  4. อย่าพยายามคิดการณ์ใหญ่เกินไปค่ะ จะสิ้นเปลืองทุนทรัพย์โดยใช่เหตุ เช่น ปลูกมะม่วงเพียง 5 ไร่ ผลผลิตปีละ 1 ตัน ในพื้นที่ก็ไม่มีคนอื่นเพาะปลูกพืชเหมือนๆกัน แต่คิดจะตั้งโรงงานแช่แข็ง หรือ โรงงานแปรรูปทำมะม่วงอบแห้ง หรือ คิดจะไปเซ้งแผงในตลาดไทเพื่อขายผลผลิตของตนเอง (เพราะมีเกษตรเกินมาแนะนำ) พอขายผลผลิตหมดก็ไม่รู้จะหาผลผลิตที่ไหนมาขายต่อ หรือแปรรูปต่อ จะเป็นการลงทุนโดยเสียเปล่าค่ะ หรือ การส่งสินค้าเข้าห้างก็เหมือนกันค่ะ ควรศึกษาเงื่อนไขให้ถ่องแท้ค่ะ บางทีนอกจากโดนหักเปอร์เซนต์แล้วเราต้องรับภาระสินค้าที่เน่าเสียหายเอง แถมกว่าจะเก็บเงินได้ต้องมีเครดิต 45 วันจึงจะได้เงิน  นอกจากนี้บางที่เขามีสัญญาให้ส่งแบบต่อเนื่อง หากส่งไปครั้งสองครั้งแล้วหยุดก็อาจโดนหักเงิน ทำนองนี้
  5. เรื่องการตลาดนี่ พอเขียนไปแล้วดูเหมือนจะทำให้หลายคนเครียดเกินไป วันนี้มีลูกค้าโทรมาหารือว่าถ้าผมปลูกมะนาว 20 ต้นจะหาตลาดได้ที่ไหน คำตอบที่สวนวสาให้คือ ให้หาตลาดแถวบ้านตัวเองค่ะ เพราะการปลูกมะนาว 20 ต้นนั้นผลผลิตต่อการเก็บ 1 ครั้งไม่น่าจะถึง 100 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยอาจจะแค่ 20-50 กิโลกรัม ดังนั้นหากคิดจะส่งตลาดไท แค่ค่าขนส่งก็มากกว่าค่ามะนาวแล้วค่ะ ส่วนการส่งออกไม่ต้องพูดถึงเลย นอกจากนี้หากมีร้านอาหาร ร้านค้าปลีกแถวบ้านก็สามารถไปติดต่อส่งได้ค่ะ สำคัญที่ขอให้รักษาผลผลิตให้มีป้อนร้านสม่ำเสมอและมีคุณภาพต่อเนื่องเท่านั้นเอง เรื่องการตลาดนี่ ไม่คิดถึงเลยก็ไม่ได้ คิดมากไปก็ไม่ดีค่ะ จะเครียดเปล่าๆ

การเตรียมตัว/วางแผน

  1. เมื่อมีที่ดินแล้ว มีทุนแล้ว ทราบว่าดินเป็นดินชนิดไหน เข้าใจสภาวะอากาศของพื้นที่แล้ว เลือกพืชที่เหมาะกับพื้นที่ได้แล้ว เราก็เริ่มวางแผนกันค่ะ อยากให้เกษตรกรทุกคนวางแผนบนกระดาษก่อนว่าจะแปลนสวนของตนเองอย่างไร บ้านจะอยู่ตรงไหน บ่อน้ำ(ถ้ามี) จะอยู่ตรงไหน และส่วนไหนกะว่าจะปลูกพืชอะไร จำนวนกี่ต้น
  2. ระบบน้ำเป็นสิ่งสำคัญค่ะ ก่อนจะลงพืชชนิดใดๆ ระบบน้ำควรจะพร้อมก่อน หากพื้นที่เป็นสภาพเนินเขา ก็ไม่เหมาะกับการทำระบบร่องน้ำที่มีน้ำหล่อแบบร่องสวนที่ทำกันในพื้นที่ราบ แต่ควรใช้การขุดทางระบายน้ำเพื่อว่าหน้าฝนน้ำสามารถไหลลงมาได้โดยไม่เอ่อขังที่โคนต้นไม้ และใช้ระบบรดน้ำแบบตามท่อน้ำหยดหรือสปริงเกอร์ โดยอาจสูบน้ำไว้ที่สูงและปล่อยมาตามแรงดึงดูดโลก หรือใช้ปั๊มน้ำก็ได้ค่ะ ส่วนพื้นที่ราบนั้นให้ศึกษาว่าระบบน้ำที่เราใช้เหมาะกับพืชหรือไม่ เช่น หากปลูกมะม่วง มะนาว ในดินเหนียวก็ไม่ควรใช้น้ำหยดแต่ควรใช้สปริงเกอร์ เพราะระบบน้ำหยดจะหยดอยู่แค่วงแคบๆ ในขณะที่รากพืชแผ่ขยาย  แต่หากปลูกพวกพริกหรือมะเขือเทศในถุงก็สามารถใช้ระบบน้ำหยด (dripping) ได้ค่ะ เรื่องการบริหารน้ำนี้มีผลต่อการเติบโตของพืชและคุณภาพผลผลิตค่ะ นอกจากนี้ มีเกษตรกรพาร์ทไทม์บางคนคิดว่าในช่วงเริ่มต้นไม่ต้องวางระบบน้ำก็ได้ พึ่งฝนฟ้าเอา และให้คนงานลากสายยางรดน้ำเอาก็ได้ พื้นที่แค่ไร่สองไร่เอง ก็อยากให้ทดลองรดน้ำเองดูค่ะว่าเหนื่อยแค่ไหน และก็อย่าหวังผลให้มากค่ะหากพืชผลออกมาไม่ได้ขนาด หรือร่วงไปแยะ หรือไม่ติดผล ซึ่งอยากให้คิดดีๆค่ะ ทีกิ่งพันธุ์เราไปอุตส่าห์เสาะหาจากแหล่งทั่วประเทศได้ ปุ๋ยหมักก็ไปเสาะหาส่วนประกอบต่างๆ มา ลงทุนลงแรงไปมากมาย แต่มาประหยัดกับเรื่องน้ำ แล้วต้นไม้ก็แคระแกร็น มันคุ้มไหม
  3. เมื่อระบบน้ำพร้อมแล้ว ก็มาถึงกิ่งพันธุ์ของพืชที่จะลงค่ะ แนะนำให้ศึกษาจากเวบไซต์เกษตรพอเพียงและหนังสือเกษตรต่างๆ ค่ะ ราคากิ่งพันธุ์พืชชนิดเดียวกัน อาจต่างกันตามผู้ขายค่ะ หากปลูกจำนวนมาก อยากให้ผู้ซื้อแวะไปที่สวนของผู้ขายแต่ละรายค่ะจะได้สัมผัสกับต้นพันธุ์ของจริง รู้ว่าแท้หรือไม่แท้ อย่าดูแต่ในรูปค่ะ เพราะหากปลูกพันธุ์ไม่แท้จะมีปัญหาเรื่องการตลาดค่ะ  นอกจากนี้ขอเรียนว่าราคากิ่งพันธุ์เป็นเงินลงทุนที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบสัดส่วนกับต้นทุนรวมทั้งหมดของการเกษตร อยากให้ผู้ซื้อพิจารณาหลักๆ ในเรื่องความเสี่ยงเรื่องความแท้ของสายพันธุ์ บวกกับค่าน้ำมันที่ต้องไปเสาะหากิ่งพันธุ์ที่ต้องการ ก่อนตัดสินใจค่ะ
  4. การบำรุงรักษา เมื่อปลูกพืชลงไปแล้วแน่นอนว่าจะต้องมีการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ฉีดยา ตัดแต่งกิ่ง เก็บผลผลิต ตัดหญ้าที่รกๆ ในแปลง รวมไปถึงการดูแลในกรณีฉุกเฉินต่างๆ เช่น เครื่องสูบน้ำพัง ไฟฟ้าตัด น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม ภาวะฝนแล้ง หนูแทะสายสปริงเกอร์ฯลฯ ดังนั้นหากท่านเป็นเกษตรกรเฉพาะเสาร์อาทิตย์ ก็ต้องมีคนงานที่ไว้ใจได้ช่วยดูแลค่ะ และค่าใช้จ่ายส่วนบำรุงรักษานี้ก็มากเสียด้วยสิ ที่สำคัญท่านต้องศึกษาหาความรู้ด้านนี้พอควรค่ะ ไม่งั้นโดนหลอกน่าดู เช่น หากจะจ้างคนมาตัดหญ้าควรจ่ายเหมาต่องานที่สำเร็จไม่ใช่จ่ายรายวัน เพราะบางทีก็มีอู้งานค่ะ
  5. อุปกรณ์การเกษตร ที่จำเป็นต้องใช้ในสวนหลักๆ นอกจากพวกจอบ เสียม เครื่องมือพื้นฐานแล้ว ก็มีพวกเครื่องตัดหญ้า เครื่องฉีดยาแบบสะพายหลังหรือแบบลาก ถังหมักหรือผสมปุ๋ย ตะกร้าสำหรับเก็บผลไม้ค่ะ อุปกรณ์การเกษตรพวกนี้เวลาซื้อให้คุยหลายๆ ร้านค่ะ แต่ละร้านจะเป็นเอเย่นของแต่ละยี่ห้อแตกต่างกัน ถามความเห็นเพื่อนๆ ในเวบนี้ก็ได้ค่ะ แต่ละคนจะมีประสบการณ์ในอุปกรณ์หลายๆ แบบค่ะ ควรเลือกให้เหมาะกับงานในสวนค่ะ ที่สำคัญ อย่าเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย เช่น เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายไหล่ ราคามันมีตั้งแต่ 1,000 กว่าบาท – 10,000 กว่าบาท ซึ่งต่างกันมาก ของถูกก็แน่นอนว่าคุณภาพก็ตามราคา ตัดหญ้าสามวันก็อาจจะหลุดเป็นชิ้นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าของแพงสุดจะดีที่สุดเสมอไป ให้ศึกษาจากเพื่อนเกษตรกรคนอื่นดูค่ะ ที่สำคัญ เวลาซื้ออุปกรณ์พวกนี้ต้องหาที่มีอะไหล่และศูนย์ซ่อมด้วยค่ะ บางยี่ห้อบอกว่าทนทานแต่คนเอามาขายขายแต่เครื่องอย่างเดียวไม่มีอะไหล่ พอเสียก็ต้องทิ้งเลย  นอกจากนี้หากมอเตอร์เสีย เครื่องตัดหญ้าเสียจะซ่อมที่ไหนที่ใกล้ๆ ไม่ต้องขนไปขนมาถึงกรุงเทพ ควรเตรียมข้อมูลแหล่งซ่อมที่เชื่อถือได้ค่ะ ไม่งั้นโดยฟันเละค่ะ

ที่มา  :  ข้อคิดสำหรับผู้ที่อยากเป็นเกษตรกร โดยคุณ  สวนวสา