แม้ว่ารัฐบาลจะยังคงโครงการรับจำนำข้าวของเกษตรกร แต่มีการปรับลดเงื่อนไขการรับจำนำลงจากเดิมที่เคยรับจำนำทั้งข้าวนาปีและนาปรัง ไม่เกิน 500,000 บาทต่อครัวเรือน โดยปรับเป็นข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาลผลิตปี 56/57 รับจำนำที่ 15,000 บาทต่อตัน ลดวงเงินรับจำนำเหลือ ไม่เกิน 350,000 บาทต่อครัวเรือน ส่วนข้าวนาปรัง ปี 57 รับจำนำที่ 13,000 บาทต่อตัน วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท
..ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเกษตรกรเองคงต้องปรับตัวเพื่อสร้างความอยู่รอดอย่างยั่งยืนมากกว่าการพึ่งพารัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว…
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะยังคงไม่ยกเลิก จนกว่าราคาขายข้าวหรือโอกาสของชาวนาที่จะอยู่ได้จากการขายในระบบปกติดีขึ้น ตราบใดที่กลไกราคาตลาดไม่ปกติ รัฐต้องเข้าแทรกแซงราคาโดยการจำนำ แต่จะมีการปรับเงื่อนไขหรือวิธีการบ้าง เพื่อให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังและเกษตรกรอยู่ได้ทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ ถ้ามีการปรับลดราคารับจำนำลงมา สิ่งที่เกษตรกรต้องทำคือลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ได้รายได้คงเดิมหรือเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องการลดต้นทุนการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พยายามรณรงค์ทุกวิถีทาง กรมการข้าวก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ผลักดันเรื่องดังกล่าวมาตลอด เช่น การจัดงานรณรงค์ลดต้นทุนการผลิตข้าวหอมมะลิในทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถกระตุ้นให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงการลดต้นทุนการผลิตข้าวอย่างจริงจัง เพราะจากการจัดนิทรรศการของกรมการข้าวและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทำให้ทราบว่าเกษตรกรตัวอย่างที่สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้หลายร้อยบาทต่อไร่ทำได้จริง
การดำเนินโครงการลดต้นทุนการผลิตข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 2 ล้านไร่ ถ้าสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนได้ประสบผลสำเร็จจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการขยายผลพื้นที่ปลูกข้าวในภาคอื่นต่อไป โดยเบื้องต้นตั้งเป้าฤดูกาลผลิตปี 56 หรือฤดูกาลหน้าจะเห็นตัวชี้วัด อย่างน้อยทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมดหรือคิดเป็น 25% จะต้องลดต้นทุนการผลิตข้าวได้
นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของการจัดงานรณรงค์ลดต้นทุนการผลิตข้าว เพื่อต้องการแสดงให้พี่น้องชาวนาเห็นว่าการลดต้นทุนเป็นการแก้ปัญหาให้ชาวนาอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมการข้าวมี มาตรการลดต้นทุนการผลิตข้าว คือ 3 ต้องทำ 3 ต้องลด ประกอบด้วย 3 ต้องทำ คือ ต้องปลูกข้าวไม่เกินปีละ 2 ครั้ง ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ต้องทำบัญชีฟาร์ม ส่วน 3 ต้องลด คือ ลดอัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ลดการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างไม่ถูกต้อง ลดการใช้สารเคมี ถ้าทำได้ต้นทุนการผลิตจะลดลงไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตัน พร้อมกันนี้ กรมฯ ได้จัดตั้ง หมู่บ้านชุมชนต้นแบบการลดต้นทุนการผลิตข้าวนำร่อง 26 หมู่บ้าน 26 จังหวัด กระจายอยู่ในภาคต่าง ๆ และมีแผนจะขยายผลในปี 2557 ภายใต้ชื่อ โครงการ 1 อำเภอ 1 หมู่บ้านลดต้นทุนการผลิตข้าว
..คาดว่าในปีแรกจะมีหมู่บ้านลดต้นทุนเพิ่มขึ้น 200 หมู่บ้านครอบคลุมทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวพื้นเมือง และจะกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ให้ครอบคลุมแหล่งปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับพี่น้องชาวนาต่อไป.
ที่มา : เดลินิวส์