พืชผักบางชนิดไม่สามารถเติบโตได้ดีในอากาศที่ร้อนจัด โดยอาจส่งผลให้พืชเจริญเติบโตช้าลง ไม่ติดดอก หรืออาจถีงขั้นเหี่ยวเฉาตาย ดังนั้น ในบางกรณี การติดตั้งสแลนพรางแสงอาจมีความจำเป็นและคุ้มค่าต่อการลงทุน ทั้งนี้นอกจากจะช่วยพรางแสงให้ผลิตผลแล้ว สแลนยังอาจมีส่วนช่วยลดความเสียหายจากการกระแทกของเม็ดฝนอีกด้วย อย่างไรก็ดี การติดตั้งโครงสร้างสแลน มีผลทำให้การเข้าทำงานของรถไถมีความยากลำบากมากขี้น จึงควรพิจารณาข้อดี ข้อเสียให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจติดตั้ง
ในหัวข้อนี้จะเป็นการแนะนำวิธีการเบื้องต้นในการติดตั้งโครงสร้างสแลนพรางแสงที่ทางไร่ใช้ อย่างไรก็ดี ทางไร่มิได้มีผู้ชำนาญเฉพาะในการติดตั้ง จึงไม่สามารถรับรองวิธีการที่จะกล่าวถึงนี้ได้ และขอนำเสนอเพียงเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น
ออกแบบโครงสร้างทั่วไป
ตัวอย่างแบบการติดตั้งสแลนในพื้นที่ 50m×100m ได้แสดงตามแผนผังข้างล่างนี้ โดยจะขอกล่าวอธิบายถึงโครงสร้างในแต่ละส่วนตามลำดับ
1. เสา สามารถเป็นเสาปูน เสาไม้ หรือเสาเหล็กได้
ในที่นี้จะขอแสดงตัวอย่างเป็นเสาปูนเสริมเหล็กซึ่งทางไร่ใช้อยู่ เสาปูนมีข้อดีคือราคาถูก ไม่ผุและไม่ขึ้นสนิม แต่ข้อเสียคือมีความเปราะ (หักง่าย) และมีโอกาสบาดเส้นสลิงหากปล่อยให้สลิงมีการเสียดสีกับปูน เพราะปูนมีความแข็งสูงและมักมีเหลี่ยมมุมที่คม
ทั้งนี้ในรูปที่แสดงจะเป็นเสายาว 3 เมตร ฐานเป็นตีนช้างเพื่อให้สามารถกลบให้แน่นได้ โดยแนะนำให้กลบลึกประมาณ 40-50 ซม. สำหรับความกว้างของหน้าเสาจากตีนช้างขึ้นไปประมาณ 1.1 เมตร จะเป็นเสาหน้ากว้าง 6×6″ ที่สูงจากนั้นขี้นไปจะเป็นเสาหน้ากว้าง 4×4″ การทำเช่นนี้ เนื่องจากเสาบริเวณใกล้คอดินจะเป็นจุดที่รับแรงสูงที่สุดและเป็นจุดที่มีโอกาสเกิดการแตกร้าวได้ง่าย นอกจากนี้ ที่หัวเสาจะมีการทำรูขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1/2″ (4 หุน) ไว้สำหรับใช้สอดห่วงอายสกรูขนาด 4 หุน และเพื่อให้สามารถใช้เป็นทางให้สลิงสอดรอดไปได้
2. สเตย์
เป็นส่วนสำหรับตรึงหัวเสารอบนอกของโครงสร้างไว้กับพื้น เพื่อไม่ให้เสาโอนเอียงไปตามแรงดึงของสลิง ทั้งนี้สเตย์มีความสำคัญมากกับโครงสร้างสแลน และอาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีสเตย์ โครงสร้างก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้
สำหรับตัวสเตย์นั้น อาจใช้เป็นการขุดหลุมและเทปูน โดยให้มีส่วนที่เป็นเหล็กเส้นที่พับเป็นห่วงยื่นออกรอรับเส้นสลิง ทั้งนี้หากใช้วิธีดังกล่าว แนะนำให้เชื่อมห่วงนั้นให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการง้างออกของห่วงในระยะยาว
หลักการติดตั้งสเตย์
- สลิงของสเตย์ต้องใหญ่กว่าสลิงในโครงสร้าง
- สลิงของเสตย์ไม่ควรทำมุมมากกว่า 45° จากพื้นดิน
- จุดที่สลิงของสเตย์ยึดกับเสา ควรอยู่ที่ตำแหน่งที่สลิงในระบบยึดกับเสา
- เหล็กของสเตย์ที่ยื่นขึ้นจากดินเพื่อให้สลิงยึด ควรมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 12mm และควรมีการกันสนิมให้เรียบร้อย
- หากบริเวณที่สเตย์อยู่เป็นดินที่ไม่แน่นเช่นดินทราย อาจจำเป็นต้องทำสเตย์ให้ใหญ่หรือลึกขึ้นตามความเหมาะสม
3. อุปกรณ์ในการยึดสลิงกับหัวเสา
ประกอบไปด้วย
- ห่วงอายสกรู (Eyebolts)
ใช้สำหรับเป็นจุดยึดสลิงหรือเกลียวเร่งเข้ากับหัวเสา ควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 2 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของสลิงที่ใช้ และหากเป็นห่วงแบบไม่ปิด ก็ควรมีการเชื่อมปิดให้เรียบร้อย - เกลียวเร่ง (Turnbuckles)
ใช้สำหรับขันให้สลิงได้ความตึงตามต้องการ ควรมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกลียวใหญ่กว่าสลิงที่ใช้ ซึ่งทางผู้ผลิตจะสามารถให้คำแนะนำได้ว่าควรใช้ขนาดเท่าใด - กริ๊บจับสลิง (Wire Rope Clips)
ใช้สำหรับผูกยึดสลิงเข้าเป็นห่วงเพื่อยึดติดกับอุปกรณ์หรือชิ้นงานอื่น ทั้งนี้โดยมาตรฐานสำหรับสลิงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 3/4″ (6 หุน) จะใช้กริ๊บจำนวนสามชิ้น โดยควรมีระยะห่างระหว่างกริ๊บเท่ากับ 6 เท่าของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของสลิงที่ใช้ ข้อสำคัญคือต้องเลือกใช้กริ๊บที่ขนาดตรงกับสลิงที่ใช้ และติดตั้งให้ด้านที่เป็นตัวยูของกริ๊บคล้องติดกับสลิงส่วนที่เป็นส่วนปลาย (dead end) ตามรูป อย่างไรก็ดี หากไม่ได้ติดตั้งให้สลิงมีความตึงมากและเป็นสลิงเส้นเล็ก ก็อาจลดจำนวนกริ๊บเป็นเพียงสองชิ้นได้
เกร็ดความรู้
- หากมีการสอดสลิงผ่านเสาปูน ควรมีการสอดท่อพลาสติกที่ไม่แข็ง (ไม่ควรใช้ท่อประปาพีวีซี) ที่ทนแดดและทนการเสียดสีได้ เพื่อป้องกันการเสียดสีระหว่างสลิงกับปูน ในที่นี้ แนะนำให้ใช้เศษท่อพีอีที่เหลือใช้
- การยึดสแลนเข้ากับสลิง อาจใช้คลิปหนีปผีเสื้อ หรือเชือกผูก หากใช้เชือกผูก ไม่แนะนำให้ใช้ เชือกไนล่อน เนื่องจากจะกรอบเมื่อโดนแดดในเวลาไม่นาน โดยแนะนำให้ใช้เชือกที่ทนแดดได้ เช่นเชือกสำหรับเล่นเรือใบซึ่งอาจมีราคาสูงกว่า แต่จะคุ้มค่ากว่ามากในระยะยาว
- ในที่ที่มีลมแรงและโครงสร้างสแลนมีขนาดใหญ่ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการยึดสแลนแน่นติดกับสลิง แต่เป็นการร้อยเชือกพอหลวมเพื่อให้สแลนลอยขี้นตามลมได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับโครงสร้าง และจากประสบการณ์ของทางไร่ การปลูกต้นไม้เป็นแนวกันลมมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันความเสียหายจากลมกรรโชก
ที่มา : http://ktveg.com/knowledge_misc_th.html