magbo system
Categories
บทความ

การเพาะเห็ดฟางทะลายปาล์ม

เดิมทีนั้นเห็ดฟางสามารถขึ้นได้เอง ตามหัวไร่ชายนา จากเศษหญ้า กองฟางทั่วไปและได้มีการพัฒนาการเพาะเห็ดฟางเพื่อการค้ากันอย่างแพร่หลาย ซึ่งวัสดุที่นำมาเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะเห็ดฟางได้แก่ฟางข้าว ซึ่งเป็นวัสดุหลงเหลือจากการทำนา จึงเป็นที่มาของ ชื่อ “ เห็ดฟาง ” ซึ่งเรียกตามลักษณะของเห็ดที่ขึ้นตามกองฟาง

ปัจจุบันการเพาะเห็ดฟางได้พัฒนาไปอีกรูปแบบหนึ่ง คือแทนที่จะใช้วัสดุฟางข้าวเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะ เกษตรกรได้หันมาใช้ทะลายปาล์มเป็นวัสดุในการเพาะ ส่วนเชื้อเห็ดที่นำมาเพาะยังคงใช้เชื้อเห็ดฟางเช่นเดิม ดังนั้นการเรียกชื่อเห็ดที่ได้จากการเพาะจากทะลายปาล์ม

น่าจะเรียกว่า “ เห็ดทะลายปาล์ม ” ถ้าหากชื่อยาวเกินไปไม่สะดวกต่อการเรียกขาน อาจเรียกว่า “ เห็ดปาล์ม ” ก็ดูจะเข้าทีไม่น้อย

สำหรับทะลายปาล์มซึ่งนำมาเพาะเห็ดนั้นเป็นวัสดุเหลือใช้จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มซึ่งมีอยู่มากมายเมื่อก่อนเคยเป็นปัญหากับทางโรงงานที่จะต้องเป็นภาระในการขนย้ายไปทิ้ง แต่หลังจากมีการนำทะลายปาล์มมาเพาะเห็ด ทำให้โรงงานมีรายได้กับการขายทะลายปาล์มอีกทางหนึ่งและทะลายปาล์มหลังจากใช้ในการเพาะเห็ดแล้วยังสามารถนำไปใช้คลุมโคนต้นไม้และทำปุ๋ยได้ อีกนับเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (ทะลายปาล์ม 1 คันรถ 6 ล้อ ราคา 1,200 บาท)

ประวัติการเพาะเห็ดฟางทะลายปาล์มของอำเภอไชยา

การเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มน้ำมัน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2536 มีการส่งเสริมการเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม ในเขตพื้นที่ชลประทาน หมู่ที่ 2,5 ตำบลป่าเว ซึ่งมีเกษตรกรได้รวมกลุ่มการเพาะเห็ดฟาง จำนวน 27 ราย โดยทางสำนักงานเกษตรอำเภอไชยา ได้จัดให้มีกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตรตามแผนพัฒนาชนบท ด้วยสาเหตุนี้ ในช่วงปลายปี 2538 ได้มีการขยายผลวิธีการวิธีการเพาะเห็ดฟางไปสู่ท้องถิ่นอื่น ได้แก่ ตำบลทุ่ง ตำบลพุมเรียง ตำบลตะกรบ สำหรับการเพาะเห็ดฟางในอำเภอไชยา ขณะนี้ได้มีการรวมกลุ่มการเพาะเห็ดฟางในบางหมู่บ้าน และจัดทำเป็นรายครัวเรือน รวมสมาชิกทั้งหมด 131 ครัวเรือน จะมีพ่อค้าเข้ามาบริการจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์และรับซื้อผลผลิตเห็ดในท้องถิ่น จำนวน 3 – 5 รายนำไปขายในจังหวัดต่าง ๆ เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา กรุงเทพฯ ทำให้เกษตรกรไม่มีปัญหาเรื่องการจำหน่าย และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน ประมาณเดือนละ 3,000-5,000 บาท ผลผลิตรวมในพื้นที่ออกจำหน่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 300 ก.ก. ขณะนี้ราคารับซื้อจากพ่อค้าราคา ก.ก. ละ 30-33 บาท

ข้อมูลการเพาะเห็ดฟางทะลายปาล์ม

  1. พื้นที่เพาะเห็ดฟางทะลายปาล์ม ปัจจุบันมีเกษตรกรเพาะเห็ดฟางทะลายปาล์มในท้องที่ หมู่ที่ 1,3,4,5 ตำบลตะกรบ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำการเพาะเห็ดตลอดทั้งปี และมีเกษตรกร บางส่วนของตำบลทุ่ง จะทำการเพาะเห็ดเฉพาะช่วงฤดูกาล คือ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าว (เดือนธันวาคม) ระยะเพาะประมาณ 5 เดือน
  2. จำนวนเกษตรกรผู้เพาะเห็ดฟางทะลายปาล์ม
    1. เพาะเห็ดตลอดปีประมาณ 131 ราย
    2. เพาะเห็ดช่วงฤดูกาลหลังเก็บเกี่ยวประมาณ 35 ราย
  3. รายได้จากการเพาะเห็ดฟางทะลายปาล์ม เกษตรกรมีรายได้จากการเพาะเห็ด เฉลี่ยรายละ 3,000 – 5,000 บาท ต่อเดือน
  4. กำลังการผลิต
    1. เกษตรกรเพาะเห็ดได้เฉลี่ย 3 ก.ก. ต่อวัน คิดเป็นรายได้ 120 บาทต่อวัน (ราคาเห็ด ก.ก. ละ 30-33 บาท)
    2. กำลังการผลิตรวมของอำเภอ เฉลี่ยวันละ 300 ก.ก. ต่อวัน คิดเป็นมูลค่าวันละ 9,000-9,900 บาท ต่อวัน หรือ 270,000 – 326,700 บาท ต่อเดือน (3,240,000 – 3,920,400 บาทต่อปี)

ผลที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมการเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม

  • เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว เดือนละ 3,000 – 5,000 บาท
  • ผลผลิตรวมในพื้นที่ออกจำหน่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 300 ก.ก. ๆ ละ 40 บาท
  • เป็นการทำกิจกรรมอาชีพแบบครบวงจร โดยมีพ่อค้านำทะลายปาล์มและวัสดุอื่นมาจำหน่าย และรับซื้อเห็ดฟางถึงในไร่นา เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเสี่ยงกับภาวะด้านการตลาด และราคาผลผลิต
  • เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นกลุ่มอาชีพที่มั่นคงในโอกาสต่อไป
  • มีการใช้เวลาว่างจากการประกอบกิจกรรมอื่นให้เกิดประโยชน์ เป็นการกระจายแรงงานที่เหมาะสม
  • มีอาหารประเภทผัก ไว้บริโภคในครัวเรือน เป็นการเพิ่มอาหารโปรตีน และลดค่าใช้จ่าย
  • เศษทะลายปาล์ม นำไปใช้ในการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชอื่น เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนถาวรต่อไป

วัสดุอุปกรณ์

  • เชื้อเห็ดฟาง
  • อาหารเสริม
  • แป้งข้าวเหนียว
  • ทลายปาล์มน้ำมัน
  • ไม้ไผ่ทำโครง
  • พลาสติกดำชนิดบาง

ขั้นตอนและวิธีการเพาะ

  • การเตรียมพื้นที่
    1. เลือกพื้นที่ให้เหมาะสม
    2. ปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ กำจัดสิ่งปฏิกูลออก
  • การสร้างโรงเรือน
    1. ใช้สแลนหรือทางมะพร้าวป้องกันแดดประมาณ 70 %
    2. ใช้สแลน ทางมะพร้าว หรือ สิ่งเหลือใช้อื่น ๆ เช่น กระสอบปุ๋ย กั้นด้านข้างเพื่อป้องกันลมพัดโดนผ้าพลาสติกคลุม
    3. ความสูงประมาณ 180 ซ.ม. กว้าง,ยาวพอสมควร
  • การเตรียมทลายปาล์มก่อนนำไปเพาะ
    1. กองทลายปาล์มสูงประมาณ 70 ซ.ม.
    2. เหยียบย่ำให้เรียบ
    3. รดน้ำให้ทั่ว 3 วัน ต่อครั้ง นานครั้งละ 2 ชั่วโมง(ใช้ท่อขนาด 1 นิ้ว ฉีด)
    4. คลุมด้วยพลาสติกให้มิดชิด นาน 12 วัน

  • การเตรียมแปลงเพาะ
    1. เตรียมแปลงกว้าง 70 ซม.
    2. ยาวครึ่งหนึ่งของผ้าพลาสติกคลุม
    3. เหยียบร่องให้เรียบ รดน้ำให้ชุ่ม

  • การเลือกซื้อเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพ
    1. ก้อนเชื้อเห็ดแน่นแข็ง
    2. มีเส้นใยสีขาวนวล
    3. กลิ่นหอมรสดอกเห็ดฟาง
    4. ไม่มีเชื้อราชนิดอื่นปะปน
    5. ไม่มีหนอนและแมลง
  • การผสมเชื้อเห็ด

    1. ขยำเชื้อเห็ดให้ร่วน
    2. คลุกเคล้าเชื้อเห็ด อาหารเสริมและแป้งข้าวเหนียวให้ทั่ว (เข้ากันดี) อัตราส่วน สำหรับขนาดแปลงเพาะ กว้าง 70 ซม. ยาว 22 เมตร
    • เชื้อเห็ดฟาง 75 ถุง
    • อาหารเสริม 1 ถุง (1.5 ก.ก.)
    • แป้งข้าวเหนียว 1 ถุง (1 ก.ก.)
  • การโรยเชื้อเห็ดและคลุมร่อง

    1. โรยเชื้อเห็ดที่ผสมแล้วลงบนร่องให้ทั่ว
    2. รดน้ำให้ชุ่ม (ใช้บัว)
    3. ใส่โครงไม้ไผ่คลุมด้วยพลาสติกดำ ชนิดบาง

  •  การดูแลรักษา
    1. ตรวจดูความชื้นในแปลงอย่างสม่ำเสมอ
    2. ความชื้นที่เหมาะสม 35-37 องศาเซนเซียส
    3. สังเกตหยดน้ำใต้พลาสติกคลุม หากไม่มีหยดน้ำจับพลาสติกหรือมีน้อย ให้รดน้ำลงบนพื้นดินระหว่างแปลงเพาะ
    4. หลังวันเพาะ 5 วัน ให้เปิดช่องระบายอากาศ ขนาด 1 ฝ่ามือทั้งหัวและท้ายร่อง
    5. สังเกตดูเชื้อรา หากมีเชื้อราปะปนให้รีบกำจัดทันที
    6. หลังวันเพาะ 9 – 10 วัน เห็ดจะเริ่มงอก
  • การเก็บเกี่ยว
    1. เก็บเมื่อได้ขนาด ดอกโตเต็มที่แต่ไม่บาน
    2. พยายามให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด
    3. ใช้มีดจับดอกเห็ดหมุนไปทางใดทางหนึ่งพร้อมดึงขึ้น
    4. ดอกที่งอกบนดินควรใช้มีดตัดดอกเห็ดขึ้นมา อย่าดึงด้วยมือ
    5. เวลาเก็บ ขึ้นกับความต้องการของตลาด
    6. เก็บวันละ 1 ครั้ง ทุกวัน นานประมาณ 15 วัน ต่อรอบ
  • การตัดแต่งดอกเห็ด
    1. ใช้มีดที่บางและคม
    2. ตัดตีนให้สะอาดเรียบร้อย
    3. ตัดแต่งดอกที่เป็นผิวคางคกให้เรียบร้อยไม่เสียราคา

การจำหน่าย

มีจุดรับซื้อ ในตำบล 3 จุด พร้อมบริการวัสดุอุปกรณ์

หมายเหตุ

•  ห้ามทำซ้ำที่

• พลาสติกคลุมต้องทำความสะอาดโดยการซักน้ำทุกครั้งก่อนนำไปใช้ครั้งต่อ ๆ ไป

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอไชยา 0-7743-1033

ที่มา : http://chaiya.suratthani.doae.go.th/20.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *